ค่าไถ่ชีวิต

"อรอนงค์" เล่าประสบการณ์น่าขนหัวลุกจากหนองคาย

ดิฉันเป็นคนบ้านปากมาง ต.กองนาง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย มีเรื่องราวแปลกประหลาดหลายเรื่องในสมัยเด็กที่ยังตกค้างอยู่ในความทรงจำ วันนี้ขอถือโอกาสนำบางเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

พวกเราส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำนา กับหาปลาในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมเป็นฤดูล่าปลาบึก ถือเป็นเรื่องใหญ่โตมาก พวกเด็กๆ แห่ไปดูพวกผู้ใหญ่เขาทำพิธีบวงสรวงเจ้าที่เจ้าทาง มีดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวานและเหล้า 1 ขวด ก่อนจะออกเรือจับปลากัน

พวกจับปลาจะใช้เรือยาวพายทวนน้ำขึ้นไปที่อ่างปลาบึก อยู่บ้านผาตั้ง อ.ศรีเชียงใหม่ นี่แหละค่ะ แล้วใช้อวน หรือ "นาม" มีลักษณะคล้ายข่ายดักปลา แต่ใช้เชือกเส้นใหญ่กว่า ปล่อยปลายข้างหนึ่งให้ลอยน้ำ ส่วนอีกข้างหนึ่งใช้เรือลาก เมื่อปลามาติดอวนแล้วจึงลากขึ้นเรือ

เมื่อราว 40 ปีก่อนเล่ากันว่าจับปลาบึกได้ถึง 40 ตัวแน่ะค่ะ!

นอกจากเรื่องปลาก็คือเรื่องข้าว เพราะข้าวปลาคืออาหารสำคัญที่สุดของคนไทยเรา

การทำนาเป็นอาชีพหลัก รองลงมาคือทำไร่มันสำปะหลัง ไร่ยาสูบและอื่นๆ รวมทั้งการทอผ้าไว้ใช้เองบ้าง แลกกับข้าวหรือปลาร้า แลกข้าวกับพริกแห้งก็มี

ชาวนาจะทำทั้งงานบุญข้าวเม่า การสู่ขวัญข้าว, การสู่ขวัญข้าวที่ยุ้งจะทำตอนนำข้าวเข้ายุ้งแล้ว กับตอนที่จะนำข้าวมากินมาขายเพื่อปลอบขวัญแม่โพสพนั่นเอง เรียกว่าประเพณี "ตุ้มปากเล้า" ถ้ายังไม่ผ่านพิธีนี้ก็ห้ามตักข้าวในยุ้งฉางมากินมาขายเด็ดขาด!

ใช้ไม้ชื่อเป็นมงคลมาทำพิธี เช่น ไม้คูน หมายถึงค้ำคูน คือข้าวไม่ลดลงจากยุ้ง ไม่หนีไปไหน เกล็ดชะมด เกล็ดกลิ่นและใบยอ เพื่อเป็นการยกยอบุญคุณต่อแม่โพสพ

เคล็ดสำคัญคือต้องใช้กระดองเต่าเท่านั้นในการตักข้าวครั้งแรก!

ถือเคล็ดว่าเต่าเป็นสัตว์อุตสาหะ อดทนมาก มือใช้ตักข้าวจะทำให้ข้าวหมดจากยุ้งช้าๆ การตักครั้งแรกต้องรีบนำไปสีแล้วนึ่งใส่บาตร เพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป

ทุกตำบลย่อมจะมีทั้งคนร่ำรวย พอมีพอกินและยากจนข้นแค้นเป็นธรรมดา

คนแก่คนเฒ่าเล่าว่า ชาวบ้านศรีเชียงใหม่เป็นคนรักสงบ รักพวกพ้อง ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจ โอบอ้อมอารีมาแต่โบราณกาลแล้วค่ะ

ถ้าบ้านไหนยากจนมากๆ อาจจะเป็นเพราะมีที่ทางทำกินน้อย มีลูกหัวปีท้ายปี เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ญาติมิตรและเพื่อนบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหารมาแบ่งปันตามมีตามเกิด ไม่ทำเมินเฉยหรือถือว่า "ธุระไม่ใช่" อย่างบ้านเมืองที่เขาเจริญทางวัตถุส่วนมาก

คนยากจนเดือดร้อนจริงๆ ก็จะไปขอยืมข้าวเปลือกในยุ้งของเพื่อนบ้านผู้มีฐานะดีกว่า เมื่อตนเองขายข้าวได้ หรือทำงานจนได้เงินพอก็นำมาใช้เป็นตัวเงิน...และยังไม่เคยปรากฏว่ามีการคดโกงหรือบิดพลิ้วกันแม้แต่รายเดียว

ประเพณีสำคัญที่สุดคือประเพณีงานศพค่ะ!

เมื่อมีคนล้มตาย ชาวบ้านก็จะบอกต่อๆ กันไป เรียกว่า "ข่าวกัน" และนิยมเรียกบ้านผู้ตายว่า "เฮือนดี" เพื่อให้เป็นมงคลไว้ก่อน รวมถึงญาติมิตรของผู้ตายก็จะนำเงินทองและข้าวของต่างๆ มาช่วยเหลือกัน ตั้งแต่ช่วยหาไม้ ช่วยทำโลงศพ จัดสถานที่ร่วมฟังพระสวดทั้ง 3 คืนจนถึงวันเผา

ครั้นเผาจี่เรียบร้อยแล้วก็ทำพิธีเลิกมงคล คือเลี้ยงพระ ทำพิธีเปลี่ยนจากบ้านผีตายให้กลายเป็นบ้านมีมงคล...เรียกว่าช่วยกันจนเสร็จงานจริงๆ ค่ะ!

เรื่องผีๆ สางๆ เป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากผู้คนหรอกค่ะ ไม่ว่าที่ไหนก็ที่นั่น ทุกชุมชนล้วนแต่เชื่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

ที่ศรีเชียงใหม่ก็เช่นกันค่ะ ทุกๆ ปีจะมีงานศาลเจ้าประจำเมืองน่าสนุกมาก โดยมีทั้งการฟ้อนรำ และมีการ "ลงนางเทียม" หรือเรียกง่ายๆ ให้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า "การเข้าทรง" นั่นเอง

จุดหมายของการเข้าทรงก็เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่การแพทย์ยังไม่เจริญดังเช่นปัจจุบันนี้

นอกจากการรักษาโรคแล้ว ยังมีการแลกชีวิตคนตายกับสิ่งของต่างๆ เช่น นางเทียมประกาศว่าจะมีคนในหมู่บ้านนั้นๆ ล้มตาย หากไม่อยากตายจะให้อะไรเป็นการแลกเปลี่ยน หรือจะเรียกว่า "ค่าไถ่ชีวิต" ก็คงไม่ผิดนะคะ

สมัยเด็กๆ ดิฉันเคยไปดูการลงนางเทียม พอมีเสียงประกาศว่านายบุญโฮมจะอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าอยากไถ่ชีวิตให้นำผ้าไหมสำรับหนึ่งมาบูชาเพื่อไถ่ชีวิต แต่นายบุญโฮม อายุ 40 เศษ คนบ้านผาตั้งกลับหัวเราะเยาะ ก่อนจะเดินจากไป

ชาวบ้านวิจารณ์กันต่างๆ นานา อีก 3 วันต่อมา ลุงบุญโฮมออกไปจับปลาก็เรือล่มจมน้ำตาย...นายอำเภอคนใหม่ควรจะเริ่มสักการะศาลนี้ได้แล้วนะคะ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ดีที่สุดค่ะ!

ค่าไถ่ชีวิต

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์