เรื่องเล่าวัดหลอน..

ย้อนไปก่อนหน้าปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยังคงมีเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงที่ผู้เฒ่าผู้แก่ใน จ. ฉะเชิงเทรา คงจะยังจำกันได้ในเหตุการณ์อันชวนขนลุกและขวัญผวาถึงกิตติศัพท์ความเฮี้ยน ของเหล่าดวงวิญญาณ "ตายโหง" ที่ยังไม่ไปผุดไปเกิด

เรื่องเล่าวัดหลอน..

โดยดวงวิญญาณนับร้อยๆดวงยังคงเร่ร่อน ปรากฏกายหลอกหลอนผู้คน อยู่ ณ แดนประหารในวันที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองในฐานะที่เคยเป็นวัดประจำเมืองฉะเชิงเทราในสมัยโบราณ ซึ่งว่ากันว่าเจริญกว่าวัดพระพุทธโสธรในปัจจุบันนี้เสียอีก วัดแห่งนั้นชื่อว่า "วัดเมือง" หรือว่า "วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์"
ผู้เขียนเมื่อได้ทราบความเป็นมาของดวงวิญญาณ ที่เคยสิงสถิตอยู่ภายในวัดแห่งนี้ก็รีบเดินทางเพื่อไปสำรวจสถานที่ และสภาพในปัจจุบันทันที และพบว่าปัจจุบันวัดเมืองจากที่เคยรุ่งเรืองกลับกลายเป็นวัดเล็กๆที่ดูเงียบสงัด ทั้งๆที่วัดนี้ก็อยู่ไม่ห่างจากวัดพระพุทธโสธรที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มากนัก แต่ก็ไม่ค่อยมีใครมาเที่ยววัดนี้เท่าที่ควร
ที่วัดเมืองแห่งนี้ในอดีตขึ้นชื่อว่า "ผีดุ" มากเพราะเป็นแหล่งรวมของดวงวิญญาณนับร้อย ที่ต้องตายอย่างเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน จนกลายเป็นตำนานเฮี้ยนของเหล่าดวงวิญญาณที่ผู้คนใน จ.ฉะเชิงเทรายุคก่อนๆ เล่าสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นลูกหลาน


"วัดเมือง" จ.ฉะเชิงเทราในอดีตเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ไทย โดยเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นบ้านเมืองเราเจริญรุ่งเรืองทางการค้ากับต่างประเทศเป็นอย่างมาก ถึงขนาดแต่งสำเภา นำสินค้าของไทยไปขายยังเมืองจีน ขนกำไรการค้าเป็นเงินตราจากเมืองจีนกลับมามากมาย นอกจากนี้ยังมีการติดต่อการค้ากับยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ทั้งๆที่ขณะนั้นอังกฤษกำลังล่าอาณานิคมในแถบเอเชียอาคเนย์ แต่ถึงแม้เราจะทำการค้ากับอังกฤษเราก็คงไม่ประมาทด้วยสายพระเนตรยาวไกล รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างค่ายคูประตูเมือง ด้านที่ติดกับทะเล เพื่อป้องกันการรุกรานอธิปไตยของต่างชาติ โดยจัดงบประมาณแผ่นดินทำการซ่อมแซมป้อมปราการเดิมของทุกเมืองให้แข็งแรงมั่นคง และสร้างป้อมปราการใหม่เช่น ค่ายเนินวง เมืองจันทบุรี และกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดกับปากอ่าว อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางทะเล
สำหรับเมืองฉะเชิงเทรา พระองค์โปรดเกล้าฯให้ "กรมหลวงรักษ์รณเรศ" ซึ่งเป็นพระปิตุลาหรือลุงของพระองค์เป็นแม่กองมาควบคุมการสร้างกำแพงเมืองและประตูเมืองฉะเชิงเทรา ในปีพ.ศ.๒๓๗๗ (ซึ่งแนวกำแพงเมืองเก่านี้ก็อยู่ไม่ไกลจากวัดเมืองมากนัก) และเมื่อสร้างกำแพงและประตูเมืองเสร็จแล้ว กรมหลวงรักษ์รณเรศก็ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างวัดขึ้นใกล้กับกำแพงและประตูเมือง วัดที่สร้างนี้ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "วัดเมือง" เพราะในอดีตบริเวณที่สร้างวัดคือใจกลางเมืองแปดริ้วนั่นเอง แต่ทางราชการตั้งชื่อว่า "วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์"


เล่ามาเสียยืดยาวจนหลายคนอาจสงสัยว่าแล้ววัดเมืองแห่งนี้ไปเกี่ยวเนื่องกับความเฮี้ยนของเหล่าวิญญาณพวก "อั้งยี่" ได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองฉะเชิงเทราเลยทีเดียว โดยเมื่อครั้งหนึ่งเมืองฉะเชิงเทรานี้มีเจ้าเมืองปกครองดูแล ต่อมาได้เกิดปัญหากับชาวจีนที่ตั้งก๊กเรียกตัวเองว่า "อั้งยี่" ซึ่งทำการขยายอำนาจ อิทธิพลจากเมืองชลบุรี เข้ามายังฉะเชิงเทรา และทำการเรียกเก็บค่าคุ้มครองหรือภาษีเถื่อนแข่งกับทางการ จนเจ้าเมืองฉะเชิงเทราขณะนั้นต้องนำกำลังไปปราบปรามจนพวกอั้งยี่แตกไปคนละทิศทาง แต่ตัวการใหญ่ที่หนีไปกลับไม่ยอมแพ้ ได้หวนกลับมารุมทำร้ายเจ้าเมืองและทหารคนสนิทในจวน กระทั่งเสียชีวิต มิหนำซ้ำยังตัดศีรษะเจ้าเมืองนำมาประจานเพื่อข่มขวัญผู้คนให้เกรงกลัว และยังได้ประกาศให้เมืองฉะเชิงเทราเป็นอาณาจักรของพวกอั้งยี่อีกด้วย
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๓๙๑ ณ เวลานั้นความได้ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพหลวงยกมาทั้งทางน้ำและทางบกไปรวมกันในเมืองฉะเชิงเทรา ครั้งนั้นฝ่ายอั้งยี่ได้เข้ายึดวัดเมือง เป็นฐานที่ตั้งสุมกำลังเพื่อสู้กับทัพเมืองบางกอก แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ พวกที่ตายก็ตายไป ฝ่ายที่เหลือก็ถูกจับเป็นเชลย และก็ยังมีบางส่วนที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อย เมืองชลบุรี


ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับเมืองฉะเชิงเทรา ครั้งนั้น รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศว่า"อันการกระทำของอั้งยี่คราวนี้เป็นขบถต่อแผ่นดิน และยังกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการตัดศีรษะเจ้าเมือง อันเป็นตัวแทนต่างพระเนตรพระกรรณให้มาปกครองเมือง เอาศีรษะมาเสียบประจานให้ลงโทษประหารเชลยทุกคน และผู้ให้ความร่วมมือทั้งหมด และให้ไล่ตามจับกุมอั้งยี่ที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อยกลับมาประหารชีวิตทั้งหมด"
สถานที่ประหารชีวิตพวกอั้งยี่ ณ เวลานั้น ก็คือ บริเวณโคนต้นจันทน์ใหญ่ของวัดเมือง เล่ากันว่าเหตุการณ์ชวนสยดสยองให้เวทนาน่าสงสาร และแม้ว่าเหล่าอั้งยี่จะส่งเสียงร้องร่ำไห้ ขอชีวิตอย่างไร เหล่าเพชฌฆาตก็ยังคงทำหน้าที่โดยจับนักโทษมามัดติดกับหลักประหาร และผลัดเปลี่ยนกันลงดาบนักโทษนับร้อยๆคนจนเลือดกระจาย เนืองนองไปทั่วหลักประหารในวัดเมืองส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งน่าสะอิดสะเอียน
การประหารชีวิต "อั้งยี่" ที่วัดเมืองครั้งนั้นเป็นข่าวดังไปทั่วหัวเมืองต่างๆ บ้างก็รู้สึกสาสมใจ บ้างก็สงสารและเกิดทุกขเวทนา ศพอั้งยี่แต่ละศพเป็น "ผีหัวขาด" และถูกนำไปฝังแบบไร้ญาติ ไม่มีใครกล้ามาขอรับศพไปทำพิธีให้ถูกต้องตามประเพณีเพราะเกรงว่าอาจจะถูกประหารตามไปด้วย ข้อหาสมรู้ร่วมคิด จึงจำต้องปล่อยให้พ่อ แม่ ลูก และพี่น้องของตัวเองถูกตัดหัวไปต่อหน้าต่อตา ความตายของอั้งยี่นั้นทุกข์ทรมานนัก จิตสุดท้ายก่อนสิ้นลมเต็มไปด้วยความกลัว มีอารมณ์โกรธแค้น ชิงชัง ยามที่วิญญาณออกจากร่าง จิตจึงยึดอารมณ์ดังกล่าวเป็นที่ตั้ง จนนำพาไปยัง "ทุคติภูมิ" อยู่ในโลกของวิญญาณในภพภูมิที่ทุกข์ทรมาน แรงอาฆาตพยาบาทความแค้นที่ฝังใจก่อนตาย ทำให้วิญญาณแต่ละดวงไม่สงบสุข หาทางไปเกิดก็ไม่ได้ เพราะเป็นวิญญาณตายโหงที่ยังไม่ถึงเวลาตายแต่ด้วยกรรมมาตัดรอนจำต้องตาย วิญญาณทั้งหลายจึงสิงสถิตอยู่ในวัดเมืองเต็มไปหมด วัดเมืองจึงขึ้นชื่อว่าเป็นวัดผีดุมานับแต่นั้น


"วัดเมือง" หลังจากเสร็จศึกเหตุการณ์นองเลือดระหว่างทหารบางกอกกับกบฏอั้งยี่แล้ว ก็ได้กลายเป็นวัดร้าง สภาพวัดชำรุดทรุดโทรม เพราะถูกอั้งยี่เผาทำลาย ทั้งยังถูกลูกหลงจากกระสุนปืนใหญ่ ทำให้สภาพวัดเสื่อมโทรมลงมาก และยังไม่ทันที่ "กรมหลวงรักษ์รณเรศ" จะขอพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากงบประมาณแผ่นดินมาบูรณะวัดเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ก็มาเสด็จสวรรคตเสียก่อน เป็นที่น่าเสียดาย และเมื่อผลัดแผ่นดินใหม่แล้วในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ อำนาจของกรมหลวงรักษ์รณเรศก็ลดลง ไม่มีทางใดที่จะได้เงินหลวงมาทำนุบำรุงวัด จึงต้องบูรณะวัดด้วยกำลังทรัพย์ที่พึงมีของท่านเอง และหลังจากนั้นไม่นาน กรมหลวงรักษ์รณเรศก็ต้องพระราชอาญาแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยถูกสั่งประหารด้วยการใช้ท่อนจันทน์ทุบที่พระนาภีจนสิ้นชีพิตักษัย ซึ่งในประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นการประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ครั้งสุดท้ายในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ และตั้งแต่นั้นมาวัดเมืองก็ไม่มีการบูรณะวัดใดๆอีกเลย ทำให้กลายเป็นวัดร้างที่ทรุดโทรม บรรยากาศน่ากลัวจนไม่มีใครกล้าเดินผ่านในยามค่ำคืน 
ด้วยกิตติศัพท์ "ความเฮี้ยน" ที่เคยมีผู้พบเห็น "ผีอั้งยี่" ผู้ประสบเหตุหลายคนเล่าว่า เคยเห็นคนจีนเลือดท่วมตัว หิ้วหัวเดินรอบวัด บางคนเป็นคนแขนขาขาด ไส้ไหล เดินโซซัดโซเซ ผอมเหลือแต่กระดูก สภาพอดอยากหิวโหย ไม่มีใครทำบุญไปให้เพราะญาติพี่น้องหรือคนรู้จักก็คงกลัวว่า ถ้าจะนำเครื่องเซ่นไปไหว้ตามประเพณีจีนก็กลัวจะถูกจับอีก จึงทำให้วิญญาณอดโซทรมานจนต้องอาละวาดหลอกหลอนหนักขึ้นไปอีก มีเรื่องเล่าจากผู้ที่อยู่ใกล้วัดเมืองผู้หนึ่ง เล่าว่าสมัยที่เธอยังเด็ก ก๋งเคยพามาเที่ยวที่วัดนี้ ก๋งยังชี้ให้ดูหลักประหารและบอกว่า สถานที่บริเวณโคนต้นจันทน์นี้ เคยใช้เป็นที่ประหารคนจีนหรืออั้งยี่นับร้อยๆคน แม้แต่เมื่อหมดสมัยอั้งยี่แล้ว เจ้าเมืองยุคต่อมาเมื่อจะประหารชีวิตใครก็มักจะใช้วัดเมืองเป็นแดนประหาร เพราะเงียบสงัด ปราศจากผู้คนจึงทำให้วัดดูน่ากลัว ยิ่งขึ้นไปอีกจนไม่มีใครกล้าผ่านไปมา โดยเฉพาะยามค่ำคืน
จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาวัดเมืองเพื่อตรวจวัด เมื่อเห็นสภาพที่เสื่อมโทรมมาก พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซ่อมแซมวัดจนอยู่ในสภาพดีดังเดิม พร้อมพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ประดับไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่เป็น "วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์"
เล่ากันว่าแม้สภาพของวัดเมืองจะถูกปรับปรุงให้สวยงาม มีชีวิตชีวาดังเดิมแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวความเฮี้ยนของ "ผีอั้งยี่" ก็ยังคงมีต่อเนื่องตลอดเวลาจนสมาคมจีนใน จ.ฉะเชิงเทรา ต้องทำพิธีปลดปล่อยวิญญาณอั้งยี่ที่ทนทุกข์ทรมานให้ไปเกิดจึงจัดพิธีล้างป่าช้าขึ้นที่วัดเมืองถึง 2 ครั้ง และในการขุดครั้งแรก พอบรรดาเซียนได้เขียนชื่อปักธง ขุดเอาโครงกระดูกขึ้นมาทำพิธีก็ได้พบหลักฐานยืนยันถึงการประหารชีวิตนักโทษอั้งยี่อย่างชัดเจน


ศพหลายศพถูกขุดพบพร้อมโซ่ตรวน เครื่องพันธนาการ ศพจำนวนมากศีรษะหาย บางศพแขน ขาขาดอวัยวะไม่ครบสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าคงเป็นศพที่ตายระหว่างการสู้รบ นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับประเภทแหวนหยก ป้ายหยก ที่ติดตัวศพในสภาพที่ชำรุด ศพถูกนำมาชำระล้างทำความสะอาดเพื่อนำไปประกอบพิธีทางจีน คือการส่งวิญญาณ โดยครั้งนั้นชาวจีนสกุลแซ่ต่างๆ ในฉะเชิงเทราและชลบุรี มาร่วมเป็นเจ้าภาพอย่างมากมาย
แต่แม้ว่าทางสมาคมชาวจีนจะทำการล้างป่าช้าแล้วก็ตาม ปรากฏว่าเรื่องราวของ "ผีอั้งยี่" ที่วัดเมืองก็ยังไม่เลิกเฮี้ยน จึงต้องทำพิธีล้างป่าช้าเป็นครั้งที่ ๒ โดยเปลี่ยนองค์เซียนซือใหม่ จากนั้นความเฮี้ยนจึงค่อยๆเบาบางลง แต่ก็ยังมีผู้เจอวิญญาณบางดวงอยู่ที่โคนต้นจันทน์ซึ่งเป็นที่ตั้งหลักประหาร จนต้องไปให้ผู้มีญาณตรวจดูจึงรู้ว่ายังมีวิญญาณอีกหลายดวง ที่คงสิงสถิตอยู่กับหลักประหาร หากจะให้วิญญาณเหล่านี้สงบก็ต้องทำพิธีขุดเอาเสาหลักประหารขึ้นมาจากดิน และทำพิธีสะกดวิญญาณพร้อมทั้งต้องปรับพื้นที่บริเวณนั้นให้เสมอกัน เทปูนปิดทับรอยหลักประหารให้หมด แล้วความเฮี้ยนหรืออาถรรพ์ทั้งหลายก็จะค่อยๆหมดไป
สำหรับต้นจันทน์ที่เคยเป็นจุดปักหลักประหารนี้ปัจจุบันก็ยังคงอยู่และผู้นำรูปหล่อของ "พ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์" มาตั้งไว้เพื่อแก้เคล็ดบางอย่าง โดยเชื่อกันว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ประหารชีวิตคนจึงต้องให้ปูชีวกฯ มาช่วยชีวิตคน "วัดเมือง" ในปัจจุบันมีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ โดยกรมศิลปากรได้มาสำรวจ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของ จ.ฉะเชิงเทรา ในบริเวณวัดด้านข้างวิหารก็เป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อไกรสร หรือศาลเจ้าพ่อกรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งภายในศาลมีรูปหล่อของท่านในชุดแม่ทัพ ใครผ่านไปผ่านมาที่เคยทราบประวัติของวัดดีก็มักจะมาสักการะ ในฐานะที่ท่านได้สร้างวัดนี้ขึ้น และถือว่าเป็นศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของฉะเชิงเทรา
เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตำนานความเฮี้ยนของหลายร้อยดวงวิญญาณ ที่แม้จิตจะละจากร่างเดิมแล้วก็ยังไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้ เพราะจิตยังคงยึดติดอยู่กับโลกมนุษย์ นั่นเพราะ "อารมณ์สุดท้าย" เมื่ออยู่ในภาวะใกล้ตายเป็น "อกุศล" โกรธ เคียดแค้น กลัว ผูกพัน ห่วงหา หรือเสียใจอย่างหนัก ดังนั้น หากว่าเราทุกคนต้องการจะจากไปสู่ "โลกหลังความตาย" อย่างสุขสงบแท้จริง เราจำต้อง "ปล่อยวาง" ตัดตนและทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมี และเคยเป็นบนโลกไว้ข้างหลัง


ที่มา peepeestory


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์