ไปสู่ความหลัง

"หนุ่มน้อย" เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกจากเพลงอีแซว

ผมเคยเป็นหนุ่มสุพรรณฝันหวานเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ไปเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพฯ เสียหลายปี แถมทำการทำงานมีครอบครัวอยู่ในเมืองหลวง จนลูกเต้าใกล้จะเรียนจบไปตามๆ กันแล้วล่ะครับ

อาศัยว่าบ้านเดิมอยู่ใกล้ๆ แค่นี้ รถแล่นสองชั่วโมงจนเหลือแค่ชั่วโมงกว่าก็ถึงแล้ว ผมเลยไปเยี่ยมบ้านบ่อย อย่างน้อยก็เดือนละครั้งให้พ่อแม่ชื่นใจ ไหนจะได้เจอะเจอเพื่อนฝูงทั้งหญิงและชายที่เติบโตมาด้วยกัน พูดคุยกันถึงความหลังตั้งแต่สมัยเด็ก จนแตกหนุ่มแตกสาว มีผัวมีเมีย ลูกเต้าเป็นพรวนไปหมดแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีญาติมิตรกับคนอื่นๆ ที่เราเรียกขานกันว่า "พวกบ้าน" สำเนียงสุพรรณเซ็งแซ่ไปหมด คนกรุงเทพฯ เขาว่าพวกเราพูดเหน่อ แต่คนเก่าแก่บ้านผมกลับออกปากว่า...กรุงเทพฯ ก็อยู่ไม่ไกล ทำไมคนที่นั่นมันถึง "พูดเยื้อง" กันทุกคนเลยวะ ไอ้หม่า?

"พูดเยื้อง" ก็หมายถึง "พูดเหน่อ" นั่นแหละครับ

เมื่อเดือนก่อนผมพาลูกหลานเป็นโขยงไปเยี่ยมบ้าน ได้ข่าวว่าตากรายเป็นโรคปอดตาย เพิ่งเผาไปเมื่อวันก่อนนี่เอง...นึกถึงแล้วใจหายเหมือนกัน เพราะจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ชอบฟังนิทานของแก ไม่ว่าเรื่องตลก เรื่องผี เรื่องเพลงพื้นเมืองโด่งดังประจำจังหวัด "เพลงอีแซว" ไงล่ะครับ ตากรายแกเล่าได้สนุกสนานดีนัก

ชื่อแกก็คล้ายกับ "พ่อกร่าย" พ่อเพลงรุ่นพ่อไสว พ่อบัวเผื่อน พ่อโปรย...ตากรายบอกว่าแต่ก่อนเพลงอีแซวที่พ่อไสวสันนิษฐานว่าคงจะมาจากการ "ร้องแซวกันทั้งคืน" แต่เดิมขึ้นต้นว่า...ตั้งวงไว้เผื่อ ปูเสื่อไว้ท่า เอย...จะให้วงฉันราซะแล้วทำไม เอย...

ตากร่ายเป็นคนทำให้มีการเปลี่ยนคำขึ้นต้นเป็น...เอ้ามาเถอะหนากระไรแม่มา...แล้วแตกช่อต่อดอกไปตามใจชอบ เช่น แม่คุณอย่าช้านะแม่หน้านวลใย, แม่จะมัวชักช้าอยู่ทำไม

จนกระทั่งเอามาเล่นมุขโลดโผน เช่น ไหนๆ พี่ก็มาหาถึงที่ แล้วน้องจะมัวยืนคลำเก้าอี้อยู่ทำไม? เพื่อเรียกเสียงฮาจากท่านผู้ชม

จำได้ว่าแม่เพลงดังๆ รุ่นนั้นก็มีแม่ตลุ่ม แม่บัวผัน ลงมาถึงแม่ขวัญจิตที่เล่นอีแซวมาตั้งแต่เด็ก จนโด่งดังได้เป็นศิลปินแห่งชาติแบบแม่บัวผัน เดี๋ยวนี้ก็ปาเข้าไปหกสิบกว่าแล้ว แต่ยังมีชื่อเสียงไม่ลดราลงไปเลย

คืนนั้นผมแยกย้ายจากเพื่อนฝูงเก่าๆ ที่ร้านในตลาดกลับบ้าน แสงจันทร์ขาวนวลอย่างที่เขาเรียกว่า "แทบจะจับมดได้" มาถึงบ้าน ลมเย็นฉ่ำพัดโชยไม่ขาดสายทำให้อาการมึนนิดๆ แทบจะหายไปจนหมดสิ้น ขณะที่เสียงอะไรคุ้นๆ หูดังล่องลอยมาตามลม...

เสียงเพลงพื้นบ้านแน่ๆ แต่แทนที่จะเป็นอีแซว กลับเป็นเพลงฉ่อยที่ไม่มีรำมะนา แต่เป็นเสียงกลองสองหน้า ฉิ่ง กรับและการตบมือให้จังหวะครึกครื้น

คุณพระช่วย! เสียงแม่บัวผันครับ สุดยอดแม่เพลงอีแซวแห่งเมืองสุพรรณบุรี!

"เอย...เขาว่าคนเราเกิดมาย่อมจะมีขันธ์ 5 ไม่ว่าทั้งหญิงทั้งชาย หนุ่มตายก่อนแก่ แก่ตายก่อนหนุ่ม เขาตายกันเสียออกกลุ้มเอ็งรู้ไหม เขาเวียนเจ็บเวียนไข้เวียนตายเวียนเกิด เอากำหนัดมากำเนิดแต่ไหน เราเวียนเจ็บไข้ในวัฏสงสาร ชีวิตของเรามันจะนานไปซักแค่ไหน เอ็งจะหลงระเริงเพลิงมันจะเผา ชีวิตเอ็งจะเข้ากองไฟ เอ่ชา..."

ผมกระเดือกน้ำลายลงคอยากเย็น สายลมพัดผ่านยอดไม้ร่มครึ้มอยู่ในแสงจันทร์เหมือนจะโบกสะบัดเอาเสียงเพลงพื้นเมืองเก่าแก่ที่ซึมซับไว้หลายสิบปี ให้ล่องลอยออกมาขับกล่อมผู้คนในยามราตรีอันเยือกเย็นจับใจ!

เสียงพ่อเพลงตอบโต้ ผสมผสานกับเสียงคอสอง คอสาม ร้องขัดเข้าจังหวะ ดังกระท่อนกระแท่นเต็มที ไม่ชัดเจนเหมือนเสียงแม่เพลงเก่าแก่ ถ้าจำไม่ผิดก็คือแม่ตลุ่ม คู่ปรับตัวลือของพ่อกร่าย

"เอย...เอ็งมีเงินกี่กอง มีทองกี่หาบ มาถึงก็จะคาบเม็ดใน เอ่ชา..."

เสียงแม่บัวผันดังขึ้นชัดเจนอีกครั้ง สำเนียงละห้อยหวนคล้ายจะกล่าวคำอำลาอยู่ในที...

"วิสัยไก่ดีมันต้องตีกันด้วยแข้ง ถ้าเพลงดีว่า แดงค่อยกันไม่ได้...เราว่ากันพอนวลๆ พอหอมหวนปลายหู ผู้คนเขาก็ดูกันได้ เอ่ชา..."

ผมยืนนิ่งงันอยู่ที่ระเบียงบ้านเหมือนกลายเป็นรูปปั้น สายลมเย็นยะเยือกหอบเอาเสียงเพลงและเสียงดนตรีคึกคักระคนกับเสียงหัวเราะเฮฮา ล่องลอยไปกับสายลมยามดึกเหมือนการทักทายของอดีตกาลไม่ผิดเลย...

ขอยืนยันว่าไม่ได้หวาดกลัวต่อเสียงเพลงเก่าๆ เหล่านั้นหรอกครับ ตรงกันข้าม กลับซาบซึ้งต่อเสียงเพลงแห่งความหลังสมัยเด็กและวัยหนุ่มด้วยซ้ำ แต่ทำไมขนหัวลุกก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ!



ไปสู่ความหลัง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์