โฉมงาม ผู้ สลักกลางหทัย พระพุทธเจ้าหลวง นิรันดร์...

"...พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้น ผู้ใหญ่เล่าต่อๆกันมาว่า ทรงพระโฉมงดงาม และเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หาในพระราชสวามีเป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่าถึงจะมีพระราชธิดาภายหลังพระองค์อื่น แต่โดยเหตุที่ทรงมีพระชันษาสูงกว่าพระองค์อื่น และทรงเป็นที่เกรงพระทัยของพระขนิษฐาสองพระองค์ แม้พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จะทรงมีพระราชโอรสเป็นพระองค์ใหญ่ แต่ก็ทรงเป็นป้าแท้ๆ จึงว่ากันว่าหากยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ คงจะได้ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีใหญ่กว่าพระองค์อื่น ที่สันนิษฐานกันดังนี้ ท่านว่าสังเกตจากนัยของสร้อยพระนามพระราชธิดาที่ประสูติไล่เลี่ยกัน ๓ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี ในพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ซึ่งมีบันทึกไว้หลายแห่ง แสดงว่าพระราชบิดาทรงโปรดปรานมาก เพราะทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก และว่ากันว่า ทรงละม้ายคล้ายกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีมาก

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางค์ทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี ในพระองค์เจ้าสุนันทาฯ

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย ประไพพรรณพิจิตรนริศรราชกุมารี ใน พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ประสูติวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๑

ทั้งสามพระองค์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์ฯ ทรงมี สร้อยพระนามว่า "อรรควรราชกุมารี" อันมีนัยว่าทรงเป็นพระราชธิดาในพระอรรคมเหสี...

ทั้งพระอุปนิสัยของพระองค์เจ้าสุนันทาฯ นั้น ก็ว่ากันว่าทรงมีพระปรีชาสามารถ ฉลาดเฉียบแหลม และในบางครั้งก็ทรงเด็ดขาดในการปกครองผู้คนบริวาร ดังที่กลอนสังเกตพระอัธยาศัยเจ้านาย กล่าวไว้ว่า "พูดจากระจัดกระจ่าง องค์นันทา" (กลอนนี้แต่งเมื่อพระองค์เจ้าสุนันทาฯ พระชันษา ๘ ปี) แสดงว่าทรงพูดจาเป็นเรื่องราว เป็นหลักฐานมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระชันษาเพียง ๗-๘ ขวบ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระราชดำเนินประพาสบางปะอิน และจะทรงประทับแรมที่นั่น พร้อมด้วยพระมเหสีเทวีทุกพระองค์ เวลานั้นพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระชันษา ๒๑ พระบรมราชสวามีทรงมีพระชนมายุ ๒๘

คืนก่อนวันตามเสด็จฯ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงเล่าให้เจ้านายใกล้ชิด ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พระน้องนางเธอพระองค์หนึ่งฟังว่า ทรงพระสุบินไปว่าพระองค์พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ บังเอิญพลาดพลัดตกลงไปในน้ำ ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย

ทั้งๆ ที่ทรงหวั่นพระทัยก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลพระราชสวามีให้กังวลพระราชหฤทัย คงตามเสด็จไปตามพระราชประสงค์

วันเสด็จนั้น ขบวนเรือพระประเทียบของพระมเหสีเทวี ออกจากพระนครล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จะเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือยนต์พระที่นั่งตามไปทีหลังขบวนเรือพระประเทียบนั้น พระมเหสีเทวีประทับเรือพระประเทียบพระองค์ละลำ พร้อมด้วยพระราชธิดา พระราชโอรสของแต่ละพระองค์ เรือพระประเทียบลำหนึ่งก็มีเรือยนต์ลำหนึ่งลากจูงไป ขบวนเรือเสด็จฝ่ายในออกจากพระนครประมาณแปดโมงเช้ากว่าๆ เรือยนต์พระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ออกจากพระนครราวเก้าโมงครึ่ง เมื่อเรือพระประเทียบของพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ถึงบางพูด ก็เกิดอุบัติเหตุล่มลง

ตามปากคำพระยามหามนตรีกราบบังคมทูลเรื่องละเอียดดังนี้

"เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระมหามนตรีไปจูงเรือพระองเจ้าเสาวภา ตามไปเป็นเรือที่สองแนวเดียวกัน เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวง ซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตก แล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลาง ห่างเรือโสรวารสัก ๑๐ ศอก พอเรือปานมารุต (ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุนันทาฯ) แล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบของพระองค์เจ้าสุนันทาฯ เสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือโดนข้างเรือโสรวาร ทำให้น้ำเป็นระลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง"

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ขณะนั้นเพิ่งเสด็จถึงบางตลาดยังไม่ทันถึงที่เกิดเหตุ เมื่อทรงทราบเรื่องราวจึงรีบเสด็จขึ้นไป แต่พระองค์เจ้าสุนันทาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จสิ้นพระชนม์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพกลับพระนคร ในเวลา ๔ ทุ่มครึ่ง ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยมากประทับมาในเรือลำเดียวกับเรือเชิญพระศพ ว่ากันว่าทรงพระกันแสงมาก

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ขณะนั้นยังเป็นจมื่นไวยวรนารถ เล่าไว้ในประวัติของท่านเองว่า
"ลุปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ พุทธศักราช ๒๔๒๓ เมื่อได้เกิดอุบัติพลวะเหตุเรือล่ม และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ กับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ สิ้นพระชนม์ชีพ
พระยามหามนตรี (อ่ำ) ผู้บังคับการทหารหน้า ต้องโทษรับพระราชอาญาแล้ว ในระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิโยค มีความโศกเศร้าเป็นอันมาก จนไม่มีใครจะเข้ารอพระพักตร์ได้ และมีพระกระแสรับสั่งให้ปิดพระทวารกั้นเป็นพิเศษ มิให้ข้าราชการฝ่ายใน ออกมาพลุกพล่านรบกวนได้ มีแต่เจ้าหมื่นไวยวรนารถและพวกมหาดเล็ก คอยตั้งเครื่องอานรับใช้เพียงหกเจ็ดคนเท่านั้น ขณะที่ทรงได้ยินเสียงกลองชนะประโคมพระศพขึ้นครั้งไร ก็ทรงพระกรรแสงพิลาปร่ำรำพันไปต่างๆ นานา จนกระทั่งทรงประชวรพระวาโยไป เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็เข้านวดฟั้นคั้นพระบาท และคอยเอาน้ำหอมกับทรงดม (ยาดม) รอพระนาสิกให้คลายพระประชวร"

เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ตำแหน่งเอกอัครมเหสีพระองค์แรก และโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี พระองค์ต่อไปกับสถาปนาพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระภรรยาเจ้าอีกสองพระองค์ ขึ้นเป็นพระนางเธอ พระองค์เจ้าฯ

เหตุจากเรือพระประเทียบล่มครั้งนั้น ทำให้มีเสียงลือซุบซิบกันในหมู่ชาววัง ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้เรือล่ม โดยเสียงลือนั้นแบ่งเป็นสองกระแส คือกระแสหนึ่งมุ่งไปทางเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ พระสนมเอก อีกกระแสหนึ่งมุ่งไปทางสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ ดังข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา ที่พระราชทานไปยังเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าหลวงเมืองเชียงใหม่อยู่ มีความว่า
"...เราไม่ว่า เป็นการแกล้งฆ่า...เห็นว่าเป็นเหตุที่เผอิญจะเกิดเป็นขึ้น ให้เป็นช่องที่จะให้อคติเดินได้สะดวกตามประสงค์..."

โดยเฉพาะสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ นั้น เวลานั้นพระชันษาเพิ่งจะ ๑๗ และยังทรงเป็น "พี่น้องท้องเดียวกัน" กับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ แต่มาภายหลัง เมื่อทรงเจริญในพระอิสริยยศยิ่งกว่าพระภรรยาเจ้าพระองค์ใดๆ อาจเป็นเหตุให้มาลือกันผิดๆ ในหมู่ชาววัง ผู้ต่างคนต่างก็มี "เจ้านาย" ของตน แบ่งแยกกันเป็นพรรคเป็นพวก

ซึ่งฝ่ายในนั้นเป็นเมืองของผู้หญิง เมื่อผู้หญิงอยู่รวมกันมากๆ พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ก็อดพูดวิพากษ์วิจารณ์ซุบซิบกันไม่ได้

ส่วนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์นั้น ที่มีเสียงลือมุ่งไปทางท่าน ก็เพราะว่าท่านเป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อีกทั้งท่านยังเป็นพระสนมเอกคนแรก คู่ทุกข์คู่ยากตั้งแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์
ที่สำคัญอีกอย่างก็คือตามประวัติของท่านและเท่าที่ชาววังพูดถึงท่าน เล่ากันว่าท่านเป็นคน "แข็ง" และแกว่นกล้า แม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเอง ก็ทรงเกรงใจ ในประวัติของท่านตอนหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านเคยขัดใจกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ท่านออกปากว่าจะไม่เหยียบแผ่นดินของพระจุลจอมเกล้าฯ พอท่านจะลงจากตำหนัก ท่านก็แกล้งเรียกวอให้มาเทียบ ก้าวจากตำหนักก็ขึ้นวอโดยไม่ต้องเหยียบแผ่นดินจริงๆ มิหนำซ้ำ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ สวรรคต และพระโกศยังประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ความที่ทรงเสน่หาอาลัยเป็นกำลัง บางวโรกาสถึงกับเสด็จไปทรงเปิดพระโกศทอดพระเนตรพระศพ

พระอาการดังนี้ อาจทำให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ "ขวาง" ขึ้นมา จึงจัดให้ข้าหลวงในตำหนักของท่านเล่นละครเรื่องลักษณวงศ์ เลือกเอาตอนพระลักษณวงศ์หลบเข้าไปในฉาก เปิดพระโกศนางทิพเกสร ซึ่งมีบทร้องว่าดังนี้

"ส่วนพระจอมหลักโลกยิ่งโศกเศร้า
เสด็จเข้าเคียงโกศไม่วายหวัง
ชักวิสูตรรูดรายพระฉายบัง
พิลาปหลั่งชลเนตรลงเนืองนอง
เปิดพระโกศมิ่งมิตรพิศพักตร์
โศกสลักทรวงไหม้ฤทัยหมอง
สะอื้นอ้อนกรกอดพระโกศทอง
ชลเนตรตกต้องพระปรางนาง
เอาผ้าทรงลงเช็ดชลเนตร
ภูวเรศมิได้คิดอางขนาง
สะอื้นโหยโรยแรงกรรแสงพลาง
โอ้ว่าปรางแม่ยังอุ่นละมุนมือ
พระน้องแก้วอยู่ไยในพระโกศ
ฯลฯ"

แล้วพวกชาววังก็ได้นำไปร้องต่อ ว่ากันว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงยินบทร้องนี้พระองค์จะกริ้วมาก แล้วทรงสั่งห้ามมิให้ร้องต่อไปอีก อาจเป็นเพราะเรื่องนี้มาประสมเข้า เลยทำให้เกิดลือว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์หึงหวง แล้วเลยลือเรื่อยไป ถึงขนาดว่าที่เรือล่มเป็นเพราะการกลั่นแกล้ง เข้าทำนองมีเชื้อเพียงนิดเดียวไฟอาจลุกลามได้ใหญ่โต ...
เมื่อโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็นเอกอัครมเหสีแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก็ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ "หน่อพระพุทธเจ้า" แต่ยังมิได้ทรงเป็นรัชทายาท ด้วยเวลานั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญยังเสด็จอยู่ในฐานะพระมหาอุปราช จนกระทั่งต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต ใน พ.ศ. ๒๔๒๘ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ขณะนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศมีพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ปีรุ่งขึ้น พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของสยาม....."

ที่มา : จากหนังสือเลาะวัง (เล่ม ๓) เขียนโดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ,ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าประคุณปราบสุราพินาศ

โฉมงาม ผู้ สลักกลางหทัย พระพุทธเจ้าหลวง นิรันดร์...

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์