ดิฉันเป็นคนภาคอีสานโดยกำเนิด ได้พบเห็นธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ มาตั้งแต่จำความได้ ต่อมาได้เข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ แต่ระหว่างนั้นก็กลับไปเยี่ยมบ้านบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตรุษสงกรานต์ขาดไม่ได้เลย
วันนี้จะขอเล่าเรื่องความเชื่อถือของชาวบ้านที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาลแล้ว...
นั่นคือเรื่อง "ผีปู่ตา" ค่ะ!
ที่อำเภอดิฉันและส่วนมากในภาคอีสาน มักจะมีการเลี้ยงผีปู่ตากันทั้งนั้น ถือว่าเป็นผีของบรรพบุรุษ เชื่อกันว่าผีปู่ตาคือวิญญาณของญาติผู้ใหญ่ที่ยังห่วงใยลูกหลาน มาคอยเฝ้าดูแลและคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดโพยภัยต่างๆ
ชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างศาลปู่ตาเป็นเรือนไม้หลังย่อมๆ แต่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นโดยรอบศาลปู่ตาอีกด้วย เพื่อให้วิญญาณของบรรพชนได้พักอาศัย เรียกกันว่า "ศาลปู่ตา" ค่ะ
พวกผู้ใหญ่เล่าว่า การสร้างศาลปู่ตาไว้ในดงไม้ขนาดใหญ่ นอกจากจะช่วยให้ร่มรื่นแล้ว ยังเป็นการป้องกันคนร้ายไม่ให้บุกบั่นมาตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ๆ อันมีค่าอีกด้วย
เมื่อมีศาลปู่ตาอยู่แทบทุกชุมชน ก็ต้องมีผู้สื่อสารระหว่างผีปู่ตากับชาวบ้าน เรียกว่า "เฒ่าจ้ำ"
เรื่องนี้น่าสังเกตว่าหลายจังหวัดในภาคกลางก็มีศาลปู่ตาและผู้สื่อสารเช่นกัน บางแห่งเรียก "เจ้าจ้ำ" บางแห่งก็เรียก "จ้ำ" คำเดียว มีทั้งสระบุรี ลพบุรี และปราจีนบุรี เชื่อว่าลาวพวนตามจังหวัดดังกล่าวคงจะอพยพมาจากอีสาน และนำความเชื่อถือของตนมาด้วยค่ะ
เฒ่าจ้ำในบ้านดิฉันยังมีหน้าที่ดูแลศาลปู่ตา รวมทั้งต้นไม้และสัตว์ต่างๆ ในบริเวณนั้น เพื่อให้สงบร่มรื่นและสะอาดสะอ้านตามสมควร
พิธีเลี้ยงผีปู่ตาก็น่าสนใจนะคะ
ปกติจะทำกันในวันพุธ เป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือตอน "ลงนา" กับ "ขึ้นนา" ตอนแรกจะทำในเดือน 6 เพื่อเสี่ยงทายในการทำนาและเก็บเกี่ยวว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์หรือแห้งแล้ง ส่วนตอนหลังคือเดือน 3 ฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง
เรียกว่า "เลี้ยงลง" กับ "เลี้ยงขึ้น" ค่ะ
ตอนนี้เป็นหน้าที่ของเฒ่าจ้ำจะไปบอกผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้แจ้งข่าวถึงวันทำพิธีด้วยการตีฆ้องบ้าง ตะโกนบอกกันต่อๆ ไปบ้าง เมื่อถึงวันสำคัญแล้วชาวบ้านทุกครัวเรือนก็จะนำหัวหมู ไก่ต้มและสุราไปร่วมพิธีกันอย่างครึกครื้น...เสร็จพิธีก็นำสุราอาหารเหล่านั้นมาแบ่งปันกันกิน
อ้อ! ระหว่างที่ทำพิธีไหว้ผีปู่ตาก็จะมีการเสี่ยงทายด้วย เช่น การ "เสี่ยงคางไก่" โดยเฒ่าจ้ำจะจุดธูปบอกกล่าวผีปู่ตาว่า...
"ถ้าบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข น้ำท่าและข้าวปลาอาหารบริบูรณ์แล้ว ก็ขอให้ท่านเจ้าปู่ตาจงดัดแปลงคางไก่ให้โค้งเข้าเหมือนคันเคียวสวยงาม แต่ถ้าจะเกิดความแห้งแล้งก็ขอให้เจ้าปู่ตาจงดัดแปลงคางไก่ให้หงิกงอ หรือถ้าจะเกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วม ก็ขอให้เจ้าปู่ตาจงช่วยดัดแปลงคางไก่ให้ตรงๆ ด้วยเถิด"
ปรากฏว่าคำทำนายของผีปู่ตามักจะแม่นยำ จนทำให้ผู้คนเชื่อถือตลอดมา
ประสบการณ์ขนหัวลุกสมัยเด็กของดิฉันคือการรำผีฟ้าค่ะ!
นั่นคือพิธีกรรมเพื่อรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะแพทย์และพยาบาลยังไม่ก้าวหน้า ชาวบ้านจึงต้องใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วย ขอร้องให้ผีฟ้ามาเข้าทรง หรือ "นางทรง" ที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อจากผีฟ้าในยุคก่อนๆ
อย่างแรกต้องตั้งศาลเพียงตาและเครื่องเซ่น มีคนเป่าแคน ทำพิธีไหว้ครู มีคนฟ้อนรำและขับร้องกันเป็นหมู่เพื่ออ้อนวอนขอพรจากผีฟ้า ให้บันดาลความสุขความเจริญให้แก่คนในหมู่บ้าน และขอให้ผีฟ้าช่วยคนเจ็บป่วยหายขาดโดยเร็วไวด้วยเถิด...
วันหนึ่ง ป้าบุญเหลือคนข้างบ้านดิฉันก็เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ลุงสังข์ผู้เป็นผัวก็จัดให้มีการรำผีฟ้าขึ้นที่บ้าน ดิฉันก็ไปดูกับเพื่อนๆ และชาวบ้านอีกหลายสิบคน
ปรากฏว่าฟ้ามืดครึ้มทั้งที่เป็นเวลาบ่าย ลมพัดอู้น่ากลัว ป้าบุญเหลือที่นอนแซ่วถึงกับลุกพรวดพราดขึ้นมานั่ง เบิกตาจ้องมองอะไรบางอย่าง ลุงสังข์กับคนอื่นๆ ก็ตื่นเต้นที่เห็นคนเจ็บลุกขึ้นนั่งได้เองทั้งๆ ที่อาการหนักอยู่แท้ๆ
พอคนไปถาม แกก็ชี้มือไปที่ศาลเพียงตา บอกว่า...ทำไมนางทรงกินเครื่องเซ่นล่ะ?
ทุกคนหันขวับแต่ไม่เห็นมีใครที่ศาลนั้นเลย นางทรงและคนฟ้อนคนร้องก็ยังอยู่ห่างๆ ลุงสังข์หน้าซีด แข็งใจเดินไปดูที่ศาลแล้วพูดอะไรไม่ออก คนอื่นๆ ก็เช่นกัน เพราะเครื่องเซ่นหมดเกลี้ยง...ส่วนป้าบุญเหลือค่อยทุเลาจนหายดีตามเดิมค่ะ!