เหตุการณ์การอพยพใหญ่ของชาวรามัญประเทศเข้าสู่สยาม

เหตุการณ์การอพยพใหญ่ของชาวรามัญประเทศเข้าสู่สยาม มีการจดบันทึกเอาไว้ว่า มีจำนวนถึง 9 ครั้ง ด้วยกัน คือ

ครั้งที่ 1 ( พ.ศ.2082)
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตีหงสาวดีแตก ชาวมอญจำนวนมากได้หนีเข้ามากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองกรุงศรีอยุธยาชั้นนอก พระยาเกียรติพระยารามและครัวเรือน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองชั้นใน ใกล้พระอารามวัดขุนแสน และเมื่อถึง พ.ศ. 2084 ราชวงศ์ตองอู ตีเมืองเมาะตะมะแตก ก็มีชาวมอญหนีเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง

ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2127)
เมื่อพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ แล้วประกาศเอกราช ทรงชักชวนมอญที่เข้าสวามิภักดิ์ ให้อพยพเข้ามาพร้อมกัน ในการอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ใด แต่คาดว่าคงเป็นย่านเดียวกับการอพยพคราวแรก

ครั้งที่ 3 (พ.ศ.2138)
หงสาวดีถูกยะไข่ทำลาย ครั้งนี้ก็มีการอพยพใหญ่ของชาวมอญ มาทางตะวันออกเข้าสู่ดินแดนของกรุงศรีอยุธยาอีก

ครั้งที่ 4 (พ.ศ.2156)
หลังจากที่ราชวงศ์ตองอูย้ายราชธานีไปอยู่ที่อังวะ หลังจากหงสาวดีถูกทำลายแล้ว มอญตั้งอำนาจขึ้นใหม่ในดินแดนของตน ต่อมาถึงรัชกาลพระเจ้านอกเปกหลุน พม่าจึงยกทัพมาปราบชาวมอญอีก ทำให้เกิดการอพยพของมอญเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาอีก หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า มอญ กลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามแนวชายแดนไทย

ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2204)
มอญในเมืองเมาะตะมะก่อการกบฎขึ้น แต่ถูกพม่าปราบลงได้ จึงต้องอพยพหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกระลอกหนึ่ง ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าใจว่ากลุ่มนี้สัมพันธ์กับกลุ่มมอญที่ตั้งอยู่ชายแดน

ครั้งที่ 6 (พ.ศ.2300)
หลังจากที่มอญสามารถตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้ใหม่ในปลายราชวงศ์ตองอู แล้วยกกำลังไปตีกรุงอังวะแตก อลองพญาก็ได้รวบรวมกำลังพลพม่า ลุกขึ้นต่อสู้จนในที่สุดก็ตั้งราชวงศ์อลองพญาได้ แล้วก็สามารถตีหงสาวดีได้อีก นโยบายของราชวงศ์นี้คือ กลืนมอญ ให้เป็นพม่าโดยใช้วิธีการรุนแรง จึงมีชาวมอญอพยพหนีมาสู่เมืองไทยอีกหลาย ระลอก รวมทั้งกลุ่มที่หนีขึ้นเหนือไปสู่ล้านนา และเรียกกันว่าพวก "เม็ง" ในปัจจุบันนี้

ครั้งที่ 7 ใน (พ.ศ. 2316)
ตรงกับแผ่นดินกรุงธนบุรี มอญได้ลุกฮืออีกครั้งในย่างกุ้ง แต่ถูกพม่าปราบปรามอย่างทารุณแล้วเผาย่างกุ้งจนราบเรียบ ทำให้มอญอพยพเข้าไทยอีก พระเจ้าตากสินทรงโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มมอญเก่า (พระยารามัญวงศ์) และมอญใหม่ (พระยาเจ่ง) คนที่นับตัวเองเป็น มอญ ในปัจจุบันล้วนอพยพเข้ามาจากระลอกนี้ หรือหลังจากนี้ทั้งนั้น ส่วน มอญ ที่อพยพก่อนหน้านี้กลืนหายเป็นไทยไปหมด แม้แต่กลุ่มที่อยู่ตามชายแดนแถบเมืองกาญจนบุรี

ครั้งที่ 8 (พ.ศ. 2336 )
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ยึดเมืองทวายได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้ ต้องถอยกลับเข้าไทย ก็นำเอาพวกมอญโดยเฉพาะที่เป็นพวกหัวหน้าเข้ามาอีก

ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2357)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ชาวมอญไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานไปก่อสร้างพระเจดีย์ ก็ได้ก่อกบฎขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ แต่ถูกพม่าปราบเรียบ ต้องหนีเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่ (ราว 40,000 คนเศษ) เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จเป็นแม่กองพร้อมด้วยกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ออกไปรับถึงชายแดน กลุ่มนี้มาตั้งรกรากที่สามโคก ปากเกร็ดและพระประแดง มอญที่อพยพเข้ามาครั้งนี้เรียกกันว่ามอญใหม่

ขอบคุณ ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าประคุณปราบสุราพินาศ FB


เหตุการณ์การอพยพใหญ่ของชาวรามัญประเทศเข้าสู่สยาม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์