พม่า หรือเมียนมาร์ ถึงแม้เป็นดินแดนที่ผู้คนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น แต่ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาเทวาอารักษ์ ก็ยังควบคู่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวพุทธส่วนใหญ่อย่างแยกไม่ออก
"นัต" หรือเทวาอารักษ์ เทพผู้คุ้มครอง ยังเป็นที่เคารพนับถืออันสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนาจะเข้ามาเสียอีก โดยเทพที่จะถูกจัดว่าเป็น "นัต" นั้น มักจะเป็นคนที่เคยสร้างความดี หรือมีวีรกรรมน่าประทับใจ และมาตายลงด้วยสาเหตุรุนแรง อย่างที่เรียกว่า ตายโหง ทำให้วิญญาณยังมีความห่วงใยในภาระหน้าที่บ้านเมือง และผู้คนเบื้องหลังให้ไม่อาจไปเกิดได้ จึงเป็นนัตที่จะคอยคุ้มครองรักษาบ้านเมือง หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นพระเจดีย์องค์สำคัญ
ในสมัยพระเจ้าอนิรุธมหาราช หรือพม่าเรียกว่า พระเจ้าอโนรธา แห่งอาณาจักรพุกาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พระองค์รับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาในดินแดนนี้ แทนที่พุทธศาสนานิกายอารี ของเดิมที่ย่อหย่อนในพระวินัย ผสมปะปนเรื่องราวไสยศาสตร์ ภูตผีปีศาจท้องถิ่นมากมาย และเพื่อปฏิรูปศาสนา และความเชื่อเรื่องนัตของไพร่ฟ้าประชาชนเสียใหม่ให้สอดคล้องและให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามากขึ้น พระเจ้าอนิรุธจึงทรงรวบรวม นัต ที่มีผู้คนนับถือมาก รวม ๓๖ องค์ จัดให้เป็นมหาคีรีนัต เทพประจำอาณาจักร โดยให้มีนัต องค์ที่ ๓๗ คือ ตัจจาเมงนัต หรือท้าวสักกะ พระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพและเป็นผู้คุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เป็นผู้กำกับดูแลอีกต่อหนึ่ง นับเป็นการจัดระเบียบสังคมเทพและศาสนา โดยมนุษย์ผู้เป็นราชา เมื่อกว่า ๙๐๐ ปีมาแล้ว
นายฉัตรตริน เพียรธรรม แห่งบริษัทเอ็นซีทัวร์ ผู้จัดทัวร์ในประเทศดินแดนพุทธศาสนา ซึ่งทำทัวร์ในพม่ามากว่า ๒๐ ปี บอกว่า นัตในเมืองพม่าทั้งหลาย คงไม่มีองค์ใดเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนไทย เท่ากับ นัตโบโบจี แห่งวัดโบตะทาว หรือที่คนโยเดีย (คนไทย) ทั้งหลายเรียกขานกันว่า "เทพทันใจ"
ด้วยกล่าวกันว่า ท่านสามารถดลบันดาลให้แก่ผู้ทุกข์ร้อน ที่เข้าไปอธิษฐานขอพรจากท่านได้ผลชะงัดรวดเร็วทันใจยิ่งนัก
ที่จริงแล้วคำว่า โบโบจี นั้นไม่ใช่ชื่อเฉพาะของนัตองค์ใด แต่เป็นคำกลางเรียก นัตผู้ชายที่เป็นที่เคารพนับถือ คล้ายกับคำว่า เจ้าพ่อ หรือเจ้าปู่ ที่คนไทยใช้เรียกอารักษ์แบบไทยๆ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น คนพม่าจะต้องมีชื่อสถานที่ที่นัตองค์นั้นคอยคุ้มครองอยู่ ประกอบด้วยเสมอ เช่น ชเวดากองโบโบจี หรือโบตะทาวโบโบจี เป็นต้น
ฝั่งตรงข้ามหน้าวัดโบตะทาว มีศาลนัตอีกองค์หนึ่งซึ่งชาวพม่าเรียกว่า "อะมาดอว์เมียะ" หรือตอนนี้คนไทยรู้จักกันทั่วในนามว่า "เทพกระซิบ"
ตามตำนานกล่าวว่า นางเป็นธิดาของพญานาค ที่เกิดศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า รักษาศีล ไม่ยอมกินเนื้อสัตว์จนเมื่อสิ้นชีวิตไปกลายเป็นนัต ซึ่งชาวพม่าเคารพกราบไหว้กันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีใครมากระซิบอธิษฐานกับท่านเลย แม้แต่คนเดียว จนกระทั่งนักท่องเที่ยวชาวไทยนั่นเอง เป็นคนเริ่มต้น โดยมีหัวหน้าทัวร์ไทยนำคณะมาไหว้เทพทันใจที่วัดนี้ ได้เห็นผู้คนมุงกันหนาแน่นหน้าศาลของนัตองค์นี้ และเห็นป้ายภาษาพม่าเขียนบอกอะไรสักอย่าง จึงถามไกด์ว่า ป้ายเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งไกด์ก็อ่านให้ฟังว่า ป้ายบอกว่า "ห้ามพูดส่งเสียงดัง"
"เนื่องเพราะบริเวณนั้น ชอบมีแม่ค้ามาร้องเสนอขายชุดเครื่องเซ่นไหว้องค์เทพ ส่งเสียงเอะอะ ทั้งที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดจึงปิดป้ายเตือนไว้ แต่กลับเป็นว่า หัวหน้าทัวร์ท่านนั้นเข้าใจว่า ถ้าจะไปอธิษฐานขอเทพองค์นี้ ห้ามพูดเสียงดัง จึงอธิบายให้คณะคนไทยฟังว่า ถ้าจะอธิษฐานขออะไรกับเทพองค์นี้ต้องกระซิบ แล้วก็เล่าลือกันต่อๆ ไป จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ถึงตอนนี้ มีคนได้รับผลอธิษฐานสมปรารถนากลับมาแก้บน และบอกต่อกัน จนรายการไหว้เทพกระซิบถูกบรรจุเข้าไปในรายการทัวร์ไทยทุกบริษัท จนชาวพม่าเห็นคนไทยทำแล้วดี ก็เริ่มเอาอย่างทำตามบ้างแล้ว" นายฉัตรตริน กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากคนไทยตั้งใจจะไปไหว้เทพทันใจ หรือเทพกระซิบก็ดีอยู่ แต่อย่าลืมไปกราบพระพุทธเจ้า ไหว้พระเกศาธาตุที่ประดิษฐานในพระเจดีย์โบตะทาวด้วย เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือองค์เทพใดๆ และเป็นแห่งเดียวที่เราสามารถเห็นพระเกศาธาตุได้ด้วยตาเราเอง ด้วยสถานที่แห่งนี้ เป็นที่อัญเชิญพระเกศาธาตุที่พี่น้อง ตปุสสะและภัลลิกะสองมานพชาวมอญได้อัญเชิญมาจากชมพูทวีป ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อนที่จะสร้างพระเจดีย์ชเวดากอง ประดิษฐานมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
เครื่องเซ่นเทพเจ้า
การบูชาพระ หรือนัตในพม่านั้น นิยมใช้มะพร้าว กล้วยนากสีแดง เป็นเครื่องเซ่นสังเวย เพราะถือว่า ป็นผลไม้มงคล เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามของชีวิต บางครั้งก็จะประกอบด้วยช่อใบไม้ที่เรียกว่า ใบชัยชนะ และฉัตร ตุงหรือธงกระดาษขนาดเล็ก ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคลอีกเช่นกัน
การบูชาเทพทันใจก็เช่นกัน โดยจะมีแม่ค้าจัดเตรียม กล้วยนากและมะพร้าวพร้อมของบูชาเป็นชุด จำหน่ายอยู่หน้าวัดโบตะทาวมากมายหลายร้าน แถมยังมีบริการส่งถึงที่ยังหน้าศาลโบโบจีเลยทีเดียว
การอธิษฐานขอต่อเทพทันใจนั้น เริ่มจากขั้นตอนตั้งจิตอธิษฐาน โดยมีเคล็ดลับว่า ต้องขอเพียงข้อเดียวเท่านั้น นัยว่าเพื่อพลังกล้าแข็ง ถวายเครื่องเซ่น
จากนั้น ถวายธนบัตรเสียบไว้ที่มือของท่าน ซึ่งอยู่ในกิริยายืนชี้นิ้วไปข้างหน้า จะถวายเท่าใดก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ต้องให้มีจำนวนธนบัตรมากกว่า ๑ ฉบับ จากนั้นก็เข้าไปยืนกะระดับให้หน้าผากของเราจรดกับนิ้วมือของท่าน แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานอีกที เพียงข้ออย่างเดียวเช่นเดิม ห้ามเปลี่ยนใจ เสร็จแล้วจึงนำธนบัตรที่เราถวายไว้คืนกลับมา ๑ ฉบับ เพื่อเอากลับไปเป็นเงินขวัญถุง
นอกจากนี้ ผู้ดูแลศาลยังอาจจะให้เรานำกล้วยสุกที่คนมาถวายไว้ก่อนหน้านั้น เอาไปกินเพื่อเป็นมงคล นัยว่าเครื่องเซ่นถวาย นัตโบโบจีนี้ แม่ค้าไม่สามารถเอาไปเวียนเทียนขายใหม่ได้ เพราะเมื่อคนถวายแล้วก็จะเก็บไว้ให้คนต่อต่อไปได้นำเอาไปรับประทาน
การบูชานัต อะมาดอว์เมียะนั้น นอกจากบูชาด้วยมะพร้าว กล้วยนากที่เขาจัดไว้เป็นชุดแล้ว ยังนิยมบูชาด้วยน้ำนม และข้าวตอก รวมทั้งดอกไม้ ซึ่งมักจะเป็นดอกมหาหงส์ ที่คนพม่านิยมใช้บูชาพระกันทั่วไป สอดคล้องกับตำนานที่ว่า นางนาครักษาศีลกินมังสวิรัติ ยอมฝืนธรรมชาติของนาคที่กินปลากบเขียดและสัตว์เป็นๆ จนกระทั่งนางสิ้นชีวิต กลายเป็นนัตในที่สุด
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"