ในขณะที่นาคกำลังจะก้าวข้ามพ้นธรณีประตูนั้น บรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนๆ จะบอกให้นาค ชูมือให้สุดไปแตะขอบประตูโบสถ์ด้านบน ทั้งนี้บรรดาเพื่อนๆและผู้ร่วมงานต่างก็จะช่วยกันอุ้มชูให้นาคเอื้อมให้ถึง ขอบประตู
ความเชื่อในเรื่องนี้ว่ากันว่า ถ้านาคแตะขอบประตูโบสถ์ด้านบนได้ จะทำให้ร่ำเรียนได้สูงสุด แตกฉานในพระธรรมวินัย ต่อไปจะได้เป็นสมภารเจ้าวัด ส่วนเหตุผลที่เป็นรูปธรรมนั้น ก็คือว่าประตูโบสถ์บางแห่งไม่สูงมากนัก การอุ้มนาคเข้าโบสถ์อาจทำให้ศีรษะของนาคไปชนขอบประตู ทำให้ได้รับบาดเจ็บ จนทำให้ไม่สามารถบวชได้
เหตุผลในทางธรรมะ ยังไม่ชัดเจน แต่ได้รับการอธิบายจากท่านผู้รู้มาว่า เป็นการปฏิญาณหรือแสดงให้เห็นว่านาคจะบวชและตั้งใจปฏิบัติให้ได้บุญสูงสุด อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การไปสู่พระนิพพานเหมือนจะไกลสุดมือเอื้อมถึง การเป็นจะไปให้ถึงต้องได้แรงหนุนจากคนรอบข้าง บ่งบอกว่า การไปสู่ที่สูง เราอาจไปคนเดียวไม่ได้ เก่งคนเดียวไปไม่รอด ต้องอาศัยพวกพ้องเพื่อนฝูง เจ้านาย คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ
จริงๆแล้วความเชื่อ เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มาจนถึงทุกวันนี้ อีกธรรมเนียมนึงในการบวชคือ การโปรยทาน โดยเชื่อว่า เป็นเสมือนการโปรยบุญกุศลที่ได้บวช แก่ผู้ที่มาร่วมงาน แสดงว่าต่อจากนี้ไปนาคจะสละสมบัติทุกอย่าง เพื่อดำเนินรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการสอนเรื่องความเสียสละไปในตัว และมีความเชื่อว่าหากใครเก็บเหรียญโปรยทานได้ จะไม่นิยมนำไปใช้ แต่จะเก็บไว้ติดบ้าน เพื่อความเจริญรุ่งเรือง มีเงินมีทองใช้ตลอดไป