"ผ้ายันต์" ผ้าทรงเวทมนตร์แห่งสุวรรณภูมิ
ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของผู้คนแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ
ถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษของเราเนิ่นนานนับพันปี ผืนผ้าเขียนอักขระโบราณ และภาพสัญลักษณ์ต่างๆ กำกับลงคาถาอาคม
ความเชื่อความศรัทธาอันเต็มเปี่ยมในผ้าผืนเล็กๆ เหล่านี้ คือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนไว้ในด้านอิทธิฤทธิ์นานาประการ
และเมื่อเร็วๆ นี้ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน
จัดบรรยายขึ้นในหัวข้อ "ผ้ายันต์ ผ้าทรงเวทมนตร์แห่งสุวรรณภูมิ" โดย อัครเดช นาคบังลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงา พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเจ้าของผลงานสะสม
´ผ้ายันต์ลายมือลายเท้าครูบาศรีวิชัย´ ซึ่งเป็น 1 ในผืนผ้าที่กำลังจัดแสดงในนิทรรศการ เมติซาจส์ (METISSAGE) : สานศาสตร์ ผสานสื่อสิ่งทอกับศิลปะร่วมสมัย ณ หอศิลป์บ้านจิมฯ อยู่ในขณะนี้
อัครเดช บอกที่มาที่ไปของการบรรยายและนิทรรศการย่อยครั้งนี้ว่า
เริ่มจากผ้าผืนหนึ่งไปเตะตา อีฟส์ ซาบูแรง ภัณฑารักษ์ชาวฝรั่งเศสผู้คัดสรรผ้า 69 ชิ้นเพื่อแสดงในนิทรรศการเมติซาจส์ครั้งนี้เข้าอย่างจัง "ซาบูแรงบอกว่ามีผ้าผืนหนึ่งที่เขารู้สึกถึงความ ´มีพลัง´ คือ
ผ้ายันต์ลายมือลายเท้าครูบาศรีวิชัย ถามหาเจ้าของก็ คือผมแล้วเขาก็ขอให้นำผ้าในหมวดนี้มาจัดเป็นนิทรรศการย่อยที่ผมนำผ้ายันต์มาแสดง 100 กว่าผืน"
นักสะสมผ้าตัวยงอธิบายว่า ผ้ายันต์ผืนนี้อยู่ในประเภทของ
"ยันต์ฝ่าต๊ะ" หรือยันต์ประทับรอยมือ รอยเท้า ถือเป็นยันต์ชนิดพิเศษที่พบยาก สำหรับนำติดตัว หรือบูชาคนที่มีบารมี เป็นที่เคารพรักเพื่อเป็นเสมือนสิ่งมงคลป้องกันภัย ยันต์ผืนนี้เชื่อว่านำโชคมาแก่เจ้าของ
แล้วมักพบเป็นรอยทาบของฝ่ามือฝ่าเท้าของบิดามารดา หรือพระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียง ดังเช่นผ้ายันต์ฝ่าต๊ะของครูบาเจ้า ´ศรีวิชัย´ อริยสงฆ์แห่งภาคเหนือ "ผ้าผืนนี้ถือเป็นสิ่งล้ำค่าสูงสุดชนิดหนึ่งของผ้ายันต์ในอาณาจักรล้านนาไทย
ผ้ายันต์ที่ผมสะสมอยู่ตอนนี้ราว 3,000 กว่าผืน
ชิ้นนี้รักที่สุด ซื้อมาไม่แพงมากแต่ความที่เป็นของหายากในตอนนี้ ราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีคนมาขอซื้อบ่อยๆ" อัครเดช ว่า
การบรรยายคราวนี้ อัครเดชบรรยายให้ความรู้ว่า
ประเภทของยันต์ที่พบจัดแบ่งได้เป็น 9 ประเภท คือ
1.ยันต์เมตตามหานิยม
2. ยันต์มหาอำนาจ
3. ยันต์ค้าขาย
4. ยันต์มหาเสน่ห์
5. ยันต์โชคชะตา
6.ยันต์อยู่ยงคงกระพัน
7.ยันต์ป้องกันภัย
8. ยันต์สารพัดนึก
9.ยันต์ฝ่าต๊ะ
"ยันต์โบราณที่ผมรู้สึก ´ทึ่ง´ มากที่สุดคือ ยันต์มหาเสน่ห์
ถือเป็นคุณไสยให้คนหลงรักหลงเสน่ห์ มักทำเป็นรูปหญิงสาวสัมพันธ์กับสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว ฯลฯ แล้วแน่นอนว่าเมื่อเก็บสะสม ก็ต้องเคารพบูชาผ้ายันต์เหล่านี้ อัครเดชเล่า ว่าครั้งหนึ่งตึกแถวใกล้ๆ
ห้องเก็บผ้ายันต์ไฟไหม้ ไฟลามจนเกือบถึงห้องที่เก็บผ้าเขาจึงอธิษฐานขอให้ผ้าคุณค่ามหาศาลพวกนี้อย่าโดนไฟไหม้เลย ปรากฏว่าจู่ๆ ไฟก็ดับมอด ความศรัทธาที่มีต่อการสะสมจึงเข้มข้นยิ่งขึ้น
"ผมก็เชื่อตามวิสัยคนไทยที่เคารพพระครูบาอาจารย์
แต่ไม่ลึกซึ้งไปกว่าความสวยงามทางศิลปะที่เราเห็นว่า ผ้าพวกนี้น่าเก็บ แล้วการศึกษาประวัติผ้ายันต์แต่ละผืนก็รู้ว่า ระหว่างเส้นตัดกันนับหมื่นๆ พันๆ เส้น ´ผู้ลงยันต์´ ต้องทำสมาธิท่องคาถาประกอบตามอานุภาพของยันต์นั้นๆ
แล้วต้องเป็นผู้มีพลังจิตที่จะถ่ายทอดความเข้มแข็ง เมตตา และความอิ่มเอิบใจลงในผ้า ผู้รับก็ต้องน้อมด้วยความศรัทธาจัดไว้ในที่อันเหมาะสม ท่องคาถาเคร่งครัด ต้องอยู่ในกฎ เช่น ห้ามผิดศีล 5 ห้ามลอดใต้ถุนบ้านหรือราวตากผ้า หรือห้ามบริโภคเนื้อสัตว์
แล้วที่สำคัญยันต์โบราณเขียนเป็นมาสเตอร์พีซไม่ได้พิมพ์กันเป็นพันผืนอย่างในปัจจุบัน"
อัครเดชเป็นเจ้าของผ้ายันต์ กว่า 3,000 ผืน แล้วเขายังเป็นเจ้าของ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ "สบันงา" ตั้งอยู่ที่ถนนวัวลาย ประตูหายยา (ซ้ายมือ ก่อนถึงสี่แยกไป อ.หางดง จ.เชียงใหม่)
เก็บสะสมผ้าโบราณอายุนับพันปี กว่า 1,000 ชิ้น เป็นฝีมือถักทออันล้ำเลิศของบรรพบุรุษกลุ่มต่างๆ ในอุษาคเนย์ทั้งชนพื้นบ้านและจากราชสำนักในอดีต และเครื่องประดับโบราณอีกนับหมื่นชิ้น ซึ่งหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
ผ้าเก่าๆ พวกนี้ ผมจะมี ´สาย´ ไปเสาะหาให้ก็คือพวกพ่อค้าขายผลไม้
ขายหอม ขายกระเทียม ฯลฯ ที่เร่ขายของไปตามหมู่บ้านห่างไกลแถบภาคเหนือ เช่น หมู่บ้านนี้เป็นชาวไทยใหญ่ผมก็บอกโจทย์ว่าต้องมีผ้าทอแบบนี้นะ เขาก็ไปหาให้ ไม่ง่ายนะครับ
เป็นปีกว่าได้มาสักผืนแต่ว่าถ้าชาวบ้านขายให้ผืนหนึ่ง ก็จะมีคนขายตามๆ กันเพราะเห็นว่าได้ราคาดี ผมเคยออกไปหาด้วยตัวเองก็ได้คำตอบ ´ไม่มีหรอก!´ เพราะผ้าพวกนี้เป็นของตกทอดจากปู่ย่าตายาย ถ้าไม่คุ้นเขาหวง บางผืนอยู่บนหิ้งเราซื้อมายังได้กลิ่นน้ำหอมมีคราบแป้งบูชาติดอยู่เลย" อัครเดช เล่า
อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแสดงผ้ายันต์โบราณต่างๆ
อายุเก่าแก่กว่าร้อยๆ ปีมากกว่าร้อยผืนมาจัดแสดงให้ชมกันแบบนี้ แก้วสิริ เอเวอริ่งแฮม นักสะสมผ้าโบราณชื่อดังอีกรายที่มาชมงานด้วย กล่าวว่าแปลกใจที่อัครเดชสะสมผ้ายันต์ได้มากเป็นพันๆ ชิ้น
และสำทับเรื่องการเสาะหาผ้าว่า เรื่องสาย นักสะสมผ้าต้องมีกันทุกคนเราไปหาเองรับรองไม่ได้ ของเก่าก็ย่อมมีค่าทางใจของผู้เป็นเจ้าของ "ดิฉันเชื่อว่าผ้ายันต์มีอยู่เกือบทุกบ้าน เพราะเป็นของสิริมงคล
บางบ้านมีของเก่าเอาออกมาขายให้พ่อค้าแม่ค้าเร่
อย่างเช่น ผ้ายันต์ 1 ผืน แลกกระเทียม 1 กก. น่าใจหายนะ แต่ถ้าเขาอยากขายแล้วเราไม่ซื้อสมบัติเหล่านี้ก็สึกกร่อนไปด้วยกาลเวลา หรืออาจโดนพรากไปจากเมืองไทยก็เป็นได้" แก้วสิริ ว่า
ใครสนใจชมนิทรรศการและฟังการบรรยายดีๆ ก็แวะเวียนไปได้ ที่ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน (ซอยเกษมสันต์ 2 ตรงข้ามสนามกีฬาศุภลาสัย) ซึ่งตอนนี้กำลังจัดแสดง นิทรรศการเมติซาจส์ จนถึงวันที่ 17 มิถุนายนนี้
แหล่งที่มา:
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!