สมัยเด็กดิฉันอยู่ที่คลองบางกอกน้อย ชีวิตผูกพันกับแม่น้ำลำคลองมาตั้งแต่จำความได้ หน้าน้ำจะมีชีวิตชีวามากที่สุด น้ำในคลองเจิ่งใสเปี่ยมฝั่ง ผู้คนก็ลงมาซักผ้า อาบน้ำอาบท่า ดำผุดดำว่ายสนุกสนาน เด็กๆ แก้ผ้าโดดน้ำกันไสวแทบทั้งวัน
เรื่องผีกับชีวิตคนริมน้ำเป็นของคู่กัน ไม่ว่าที่ไหนๆ จริงไหมคะ?
คนตกน้ำตายทุกปี ปีละมากๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไหนศพจะล่องลอยตามน้ำมา เชื่อกันว่ากลายเป็นผีสิงอยู่ในคลอง หลายๆ คนยืนยันว่าเคยโดนผีหลอกสารพัดรูปแบบ ทั้งคอยจ้องจะเอาไปอยู่เมืองผีอีกต่างหาก
ที่น่ากลัวมากคือแช่น้ำอยู่ดีๆ แล้วมีมือเย็นเฉียบมาจับขาใต้น้ำจนร้องกรี๊ดๆ มาหลายรายแล้ว ส่วนมากเป็นสาวๆ ที่ชอบลงบันไดท่าน้ำตอนเย็นๆ หรือตอนพลบค่ำ
บ้านดิฉันอยู่ใกล้วัดนายโรง เลยคลองบางบำหรุไปไม่ไกลนัก วัดนี้เก่าแก่นับร้อยปี ประวัติว่าสร้างในรัชกาลที่ 4 แต่บางคนก็ว่าดูจากศิลปกรรมและสถาปัตย์แล้ว น่าจะสร้างตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาแน่ะ หรือไม่ก็เพราะศิลปะตอนนั้นยังมีอิทธิพลอยู่
วัดนายโรงมีตำนานเยอะ แถมน่าขนหัวลุกด้วยค่ะ!
เล่ากันว่า แต่เดิมมีหญิงแม่ลูกอ่อนคนหนึ่ง พายเรือขายขนมในคลองบางกอกน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา วันหนึ่งลูกน้อยพลัดตกน้ำจมหายไปแถวหน้าวัดระฆังฯ
ผู้เป็นแม่เอาแต่ร้องไห้ฟูมฟายน้ำตา คร่ำครวญถึงบุตรตนน่าเวทนานัก
ขณะนั้นสตรีชาวมอญผู้หนึ่งเก่งกล้าทางเวท มนตร์ มองเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็นึกเวทนา จึงถามว่าตนจะใช้วิทยาคมนำวิญญาณของลูกน้อยให้มาเกิดเป็นลูกอีกครั้งจะเอาไหม? แม่ค้าขนมก็ยกมือไหว้ท่วมหัว ขอให้ช่วยตามปากว่าเถิด ชาตินี้จะไม่มีวันลืมพระคุณเลย! สตรีมอญผู้นั้นก็กระทำพิธีให้ตามความประสงค์
ไม่ช้าไม่นาน แม่ผู้สูญเสียลูกน้อยไปในสายน้ำก็ตั้งครรภ์ ครั้นคลอดบุตรออกมาเป็นชาย หน้าตาประพิมพ์ประพายคล้ายกับบุตรที่ตกน้ำตายไม่ผิดเพี้ยน นางจึงตั้งชื่อว่า 'กลับ' หมายถึง กลับชาติมาเกิดใหม่นั่นเอง!
เมื่อเจ้ากลับเติบหนุ่ม มีรูปร่างหน้าตางดงาม นิยมในเชิงนาฏศิลป์จึงไปอยู่กับคณะละครนายบุญยัง ครั้นมีชื่อเสียงโด่งดังจึงแยกมาตั้งคณะละครของตนเอง มีฐานะร่ำรวยในระดับเศรษฐี...เมื่อแม่เสียชีวิตก็สร้างวัดอุทิศให้แม่และสตรีมอญผู้มีพระคุณ
ต่อมาเมื่อนายกลับสิ้นอายุขัย ทายาทได้รื้อเรือนมา สร้างกุฏิพระตามความประสงค์ของผู้ตาย ซึ่งทำพินัยกรรมไว้เป็นหลักฐานสำคัญ ได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐินายกลับไว้หน้าโบสถ์ มีรูปหล่อนายกลับประดิษฐานอยู่ในซุ้มเจดีย์นั้นด้วย
ให้ชื่อวัดนั้นว่า 'วัดนายโรง' ซึ่งหมายถึง 'นายโรงกลับ' ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดนั้นตั้งแต่แรก แต่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า 'วัดเจ้ากรับ' บ้าง 'วัดนายโรงกรับ' บ้าง แม้ที่ถูกควรจะเป็น 'วัดเจ้ากลับ' ก็ตาม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ชื่อวัดนี้ว่า 'วัดสัมมัชชผล' แต่ชาวบ้านกลับชอบเรียกว่า 'วัดนายโรง' ในที่สุดจึงได้ชื่อถาวรว่า 'วัดนายโรง' มาจนถึงทุกวันนี้!
ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาหนังเรื่องทศชาติ ด้านเหนือเป็นภาพเทพชุมนุม นั่งเรียงรายฟังพระธรรมจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้างล่างยังมีภาพเขียนเรื่องเมืองนรกเอาไว้เตือนใจผู้คน ให้ตั้งตนอยู่ในศีลในธรรมอย่าล่วงล้ำศีลห้า! แม้ว่าผู้ใดจะไม่รู้ไม่เห็น แต่นรก-สวรรค์มีตา คอยจ้องมองและบันทึกกรรมดีกรรมชั่วของมนุษย์ไว้โดยตลอด
ทำบุญทำกุศลหรือประกอบกรรมดีก็ได้ขึ้นสวรรค์ ใครทำชั่วตายแล้วย่อมถูกลากลงนรก ได้รับการลงทัณฑ์ต่างๆ นานาแสนสาหัสนัก
...เคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า คืนวันพระใหญ่จะได้ยินเสียงระนาดราดตะโพน กระจับปี่สีซอ ดังแว่วมาน่าเยือกเย็นใจยิ่งนัก เชื่อว่าด้วยอิทธิฤทธิ์ของนายกลับดลบันดาล
บางคืนก็แว่วเสียงร้องโอดโอยโหยหวน ได้ยินแล้วขนหัวลุกไปตามๆ กัน เพราะนึกถึงภาพของคนบาป หรือสัตว์นรกผู้กำลังโดนลงทัณฑ์อยู่ในนรกภูมิ!
ถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งเตือนใจให้ผู้คนทำบุญกุศลสะสมไว้ สร้างสมกรรมดีเมื่อยังมีลมหายใจ ไม่ก่อกรรมทำชั่วให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน ดีกว่าจะไปนึกได้เมื่อสายเกินไปเสียแล้ว...จริงไหมคะ?