ใครกลัวผีขึ้นสมองต้องอ่าน…บันทึกประสบการณ์ “อยู่คนเดียวในวัดร้างกลางป่า”

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นปีที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านพุทธทาสภิกขุ (หรือพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ ในตอนนั้น) ได้ตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ เดินทางกลับบ้านเกิดที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านเอง

หลังจากเสาะหาและสำรวจพื้นที่อยู่นานก็ได้พบกับวัดร้างแห่งหนึ่ง (วัดตระพังจิก – ปัจจุบันคือสวนโมกขพลาราม) ซึ่งแม้จะตั้งอยู่ในป่ารกครึ้มและมีสระน้ำซึ่งร่ำลือกันว่า “ผีดุ” แต่ด้วยบรรยากาศอันสงบวิเวกและเหมาะแก่การใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติก็ดึงดูดให้ท่านตัดสินใจเลือกสถานที่แห่งนี้

ท่านพุทธทาสเล่าถึงประสบการณ์ในวันนั้นว่า

“ที่พักครั้งแรกที่สุดนั้นเป็นเพียงโรงพื้นดิน กั้นและมุงด้วยจากเล็กๆ ขนาดวางแคร่ได้ ๓-๔ แคร่ อยู่ติดกับโรงสังกะสีซึ่งเขายกขึ้นสำหรับมุงพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่งไว้  แต่ก่อนเป็นโรงเปลือย ไม่มีฝากั้น สวมทับลงตรงโบสถ์เก่าเพื่อรักษาพระพุทธรูปเอาไว้  ต้นไม้ขนาดเขื่อง มีเงาครึ้ม ได้งอกรุกล้ำเข้ามากระทั่งในแนวพัทธสีมา เนื่องจากความนานของวัดที่ร้างมาไม่น้อยกว่าแปดสิบปี  นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรอีก นอกจากป่าไม้ที่แน่นทึบอยู่โดยรอบ

สถานที่นี้เป็นสถานที่เมื่อฉันมาอยู่ก็ยังเป็นสถานที่กลัวเกรงของคนทั่วไป  มีผู้ชายหลายคนแม้กลางวันแสกๆ คนเดียวไม่กล้าไปที่โบสถ์นั้น เนื่องจากความเชื่อในผีสางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ต้นไม้และเถาวัลย์จึงพากันกำเริบแน่นทึบไปหมด  นอกจากบ่อเก่าๆ พังมิพังแหล่ เหลืออยู่บ่อหนึ่ง ห่างจากโบสถ์ประมาณห้าสิบเมตร พออาศัยใช้น้ำได้บ้างแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่ามิใช่ของมีเองตามธรรมชาติ

นี่คือภาพแห่งสวนโมกข์ในสมัยสองปีแรก ซึ่งผิดกับภาพถ่ายที่เคยนำลงในหนังสือพิมพ์ ‘พุทธสาสนา’ หรือภาพที่ท่านจะได้เห็นในเมื่อไปเยี่ยมสวนโมกข์ด้วยตนเองในบัดนี้ อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้เลย

แต่ตามความเป็นจริง ฉันยังรู้สึกพอใจสภาพเป็นอยู่ของสวนโมกข์เมื่อครั้งนั้นอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งฉันรู้สึกชัดแก่ใจว่า มันได้ให้ประโยชน์บางประการแก่ฉัน ชนิดที่สวนโมกข์ในสภาพปัจจุบันซึ่งเตียนสะอาด มีที่พักสบาย ไม่อาจจะให้ได้เลย  เรื่องนี้เป็นหลักที่จะลืมเสียมิได้สำหรับผู้สนใจในการฝึกฝนทางจิต

ฉะนั้น ฉันควรจะกล่าวถึงสภาพของสวนโมกข์สมัยเริ่มแรกนี้ต่อไปอีกสักเล็กน้อยเพื่อเป็นการศึกษาสำหรับผู้ที่จะริเริ่มเป็นนักฝึกฝนเกี่ยวกับทางจิตตามควร”

“ความสะดุ้งหวาดเสียวชนิดใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าไว้ในบาลี (ภยเภรวสูตร) ฉันรู้สึกว่า ฉันได้เสพคบกับความหวาดเสียวชนิดเดียวกันนั้นมาแล้วอย่างมีปริมาณไม่น้อย เพราะฉันก็เช่นเดียวกับท่านผู้อ่านส่วนมาก คือมิได้ชินกับป่าด้วยการกำเนิดและเติบโตในป่า  ทั้งที่ฉันได้เคยศึกษาพระบาลีนั้นมาแล้วก่อน แต่ไปอยู่เปลี่ยวๆ คนเดียวเช่นนั้น ฉันก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยเหตุนั้นกี่มากน้อยเลย …

เพียงเท่านี้ก็แสดงว่า การสู้รบกับ ‘ความหวาดกลัว’ อันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ เป็นปัญหาอันยากเย็นเพียงไร

ความคาดคะเนอยู่ในห้องเมื่อยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ว่า ฉันจะตั้งหลักของฉันเพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ๆ เช่นนั้นๆ เป็นสิ่งที่ใช้อะไรไม่ได้เลย  เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ได้อยู่ที่ ‘หลัก’ อะไรมากมายนัก แต่อยู่ที่ ‘ความมากน้อยของกำลังใจ’ และ ‘ความช้าหรือเร็วของสติ’ และ ‘ความเคยชินหรือไม่’ เป็นส่วนใหญ่

รสชาติของการอยู่คนเดียวในสถานที่อันสงัดและดึกสงัดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจบอกให้เข้าใจกันได้ด้วยตัวหนังสือหรือด้วยการนึกเทียบเอาจากการที่อยู่ในที่อันเป็นธรรมดาของผู้ที่ไม่เคยไปอยู่  มีอำนาจอะไรอย่างหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าได้ ‘ริบ’ เอากำลังใจไปเสียหมดแล้ว ตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้สึกตนว่าได้อยู่ผู้เดียวในที่ที่ปราศจากสิ่งคุ้มครองแต่อย่างใด  ยิ่งเมื่อมีอะไรหวอหรือโครมครามวูดวาดออกมาในเวลาที่ไม่รู้สึกตัวและเพิ่งประสบเป็นครั้งแรก ย่อมเป็นการเหลือวิสัยที่จะไม่ให้เกิดการสะดุ้ง

ครั้นกำลังใจค่อยเข้มแข็งขึ้น สติค่อยรวดเร็วขึ้น สิ่งนั้นๆ ค่อยๆ กลายเป็นธรรมดาไป  เพราะฉะนั้นต้องให้เวลาอย่างน้อยสัก ๗ วัน สำหรับบทเรียนขั้นต้นนี้ เพื่อฝึกฝนการใช้หลักอย่างใดอย่างหนึ่งจนกว่าจะได้ผลที่พอใจ …”

“มันมีอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะนับว่าเป็นของวิเศษมากและเคยเป็นที่พึ่งของฉันมามากแล้ว คือ ความรักในการศึกษา อยากรู้อยากทดลอง

เมื่อกำลังใจและสติยังสมบูรณ์อยู่กับตัวก็อยากลองไปเสียทั้งนั้น  แม้ที่สุดแต่อยากลองให้เสือกัด งูกัด หรือให้ผีหลอก และให้ภูตหรือเปรตมาหา สนทนาปราศรัยกัน  ทั้งนี้เพื่อถือเอาเป็นโอกาสสำหรับศึกษาสิ่งเหล่านั้นด้วย และทดลองกำลังน้ำใจของตนเองด้วย  แต่ดูเหมือนโชคไม่เคยอำนวยให้เป็นเช่นนั้นเลย  ความกลัวกลายเป็นของหลอกและกลัวเปล่าๆ ซึ่งนับว่าขาดทุนสมแก่ความโง่ขลาดของตัวที่ไปกลัวมันเอง

ฉะนั้น  ถ้าหากเราจะมีปัญญาหรือเหตุผลพอๆ แก่การรักษาตัวแล้ว เราหวังได้ก็แต่ความปลอดภัยและโอกาสแห่งการศึกษาที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น  สิ่งที่เคยกลัวกลายเป็นของธรรมดามากเข้า จนบางครั้งกลายเป็นวัตถุแห่งความขบขัน  และเราจะพบตัวเราเองว่าเปลี่ยนไปจนจะเป็นคนละคน  และเมื่อเป็นไปโดยทำนองนี้มากเข้า อุปสรรคอันเกิดจากความกลัวที่คอยเกียดกันความเป็นสมาธิแห่งจิตก็มีน้อยเข้าและหมดสิ้นไปในที่สุด  สามารถจะนั่งอยู่คนเดียวในที่โล่งในกลางคืนอันสงัด โดยปราศจากเครื่องคุ้มครองอย่างใดนอกจากจีวรที่ห่มอยู่ และมีจิตแน่วไปในการฝึกฝนได้ตามปรารถนา

ฉันเคยเข้าใจว่า เราอาจพึ่งพาสิ่งคุ้มครองเช่นรั้วหรือกลดเป็นต้น ช่วยบรรเทาความหวาดระแวงเมื่อจะต้องนั่งอยู่คนเดียวในที่เปลี่ยว  แต่นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องขอบอกกล่าวเพื่อนนักศึกษาไว้ทั่วๆ กันว่า ไม่น่าจะใช้เลย  คือเราจะไม่ได้จิตใจอันใหม่ที่เป็นจิตใจอันปล่อยหมด  มันยังคงระแวงอยู่นั่นเอง  ไม่ได้เกิดกำลังใจอันเข้มแข็งเพียงพอ  พอไม่มีสิ่งเหล่านั้นเป็น ‘เครื่องอุ่นใจ’ ความขลาดชนิดของคนธรรมดาก็มีมาอีก”

ใครกลัวผีขึ้นสมองต้องอ่าน…บันทึกประสบการณ์ “อยู่คนเดียวในวัดร้างกลางป่า”

ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.saraupdate.com/


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์