กล่าวคือ มีครอบครัวหนึ่งอยู่ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครอบครัวนี้อยู่กันมาด้วยความปกติสุข กระทั่งวันหนึ่งลูกสาวคนหนึ่งไปธุระนอกบ้าน พอกลับมาถึงบ้านก็ล้มฟุบลงไปเหมือนคนหมดสติกระทันหัน พ่อแม่ญาติพี่น้องพากันตระหนกตกใจ รีบเข้าไปปฐมพยาบาลเป็นโกลาหล
ครั้นลูกสาวฟื้นคืนสติ กลับมีลักษณะท่าทางผิดแปลกไปจากเดิมดุจคนละคน แววตาขุ่นขวางน่ากลัว เวลาเอ่ยปากพูดออกมา น้ำเสียงก็เปลี่ยนเป็นแหบห้าว ประหนึ่งเป็นเสียงผู้ชาย รวมทั้งถ้อยคำวาจาดุจเป็นผู้อื่นพูด มีการเรียกเอา อาหารสด อาหารคาว มากินอย่างมูมมาม คล้ายกับอดอยาก หิวโหยมาช้านาน
พ่อแม่เห็นลูกสาวมีกิริยาอาการผันแปรไปอย่างกะทันหัน อีกทั้งยังพูดกันไม่รู้ความดุจเสียสติ ก็รู้แน่ว่าคงมีวิญญาณร้ายมาเข้าสิง จึงออกไปตระเวนหาหมอผีผู้มีวิทยาอาคมขลังมาขับไล่วิญญาณที่เข้าสิงให้ออกไป เมื่อหมอผีมาถึงบ้านเริ่มทำพิธีไล่ผีด้วยกฤตยาคม ผีที่มาเข้าสิงลูกสาวก็รีบถอนถอยหนีออกไปง่าย ๆ ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องโล่งอกโล่งใจ คิดว่าเหตุร้ายคงจะยุติลงเพียงเท่านี้
ที่ไหนได้อีกไม่กี่วันต่อมา วิญญาณร้าย หรือผีตนเดิมก็มาเข้าสิงลูกสาวอีก คราวนี้ถึงกับประกาศว่า มันคือวิญญาณของชายคนหนึ่ง ซึ่งถูกยิงตายบริเวณหลังวัดใกล้ ๆ บ้าน เมื่อลูกสาวเจ้าของบ้านรายนี้เดินผ่านไป มันก็เกิดความพอใจรักใคร่ ต้องการได้ไปเป็นเมีย และตั้งใจจะเอาไปเป็นเมียให้ได้
คราวนี้พ่อแม่ญาติพี่น้องของหญิงสาวก็ยิ่งตื่นตระหนกตกใจ เพราะถ้าผีตายโหงที่มาเข้าสิงถึงขั้นจะเอาลูกสาวตนไปเป็นเมียเช่นนี้ ก็เท่ากับวิญญาณร้ายมีเจตนาจะกระทำให้ถึงตายแน่ ๆ ผู้เป็นพ่อแม่พยายามพูดจาอ้อนวอนกับวิญญาณผีตายโหงที่สิงร่างลูกสาว ให้ละเว้นเจตนาซึ่งเป็นทุจริตคิดร้ายนี้เสีย แต่วิญญาณของผีตายโหงไม่สนใจใยดี ยังคงยืนกรานตามความประสงค์ของมันไม่เปลี่ยนแปลงพ่อแม่ของหญิงสาวก็ต้องเที่ยวตระเวณหาหมอผี ผู้มีไสยเวทอาคมขลังมาขับไล่วิญญาณร้ายให้ออกไปจากร่างของลูกสาวทั่วทุกทิศ แต่ไม่มีผู้ใดกระทำได้สำเร็จเด็ดขาดแม้แต่รายเดียว
หมอผีบางคนที่มีวิชาอาคมยังไม่แก่กล้า วิญญาณผีตายโหงยิ่งไม่ยำเกรงแม้แต่น้อย จะเสกคาถาสาดน้ำมนต์เข้าใส่อย่างไรมันก็วางเฉย จนฝ่ายหมอผีต้องยอมพ่ายแพ้ไปเอง ถ้าหมอผีคนใดมีพลังวิชาอาคมเข้มขลัง วิญญาณร้ายก็จะรีบถอนออกจากร่างหญิงสาว ที่มันปรารถนาจะได้เป็นเมียไปง่าย ๆ ทำทีคล้ายกับกลัวเกรงอำนาจเหลือหลาย แต่พอหายไปสักพัก มันก็จะย้อนกลับมาสิงใหม่ ที่น่าประหลาดก็คือ แม้หญิงสาวจะมีพระเครื่องรางของขลัง ด้ายสายสิญจน์ลงอาคม ติดตัวเต็มคอเต็มแขน เพื่อคุ้มครองป้องกันอย่างไร วิญญาณผีร้ายก็ยังมาเข้าสิงจนได้
น่าเวทนาหญิงสาวเคราะห์ร้ายรายนี้ ที่วิญญาณผีตายโหงจับจ้องหมายปองชนิดไม่ยอมเลิกรา ทำให้เธอแทบจะเสียสติด้วยความหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่ามันจะมาเข้าสิงอีกเมื่อไหร่ เวลาที่ถูกผีสิงหญิงสาวจะมีอาการเหมือนคนหมดสติ ไม่รู้สึกตัวว่าได้กระทำอะไรลงไปบ้าง ตราบกระทั่ววิญญาณผีตายโหงออกไปเมื่อใด เมื่อนั้นสติสัมปชัญญะจึงจะกลับคืนมาเป็นปกติเหมือนเดิม
เป็นเวลานานถึง ๓ ปีเต็ม ๆ ที่หญิงสาวถูกวิญญาณผีร้ายเข้าสิงไม่ขาดระยะ สภาพของเธอผู้นี้ไม่ผิดกับคนตกเป็นทาสของผีตายโหง ซึ่งจะมารังควานเป็นพัก ๆ ชนิดไม่มีทางหลบหนีไปไหน เพราะไม่ว่าจะแอบซ่อนอยู่ที่ใด วิญญาณร้ายก็จะติดตามไปเข้าสิงจนได้ กระทั่งหญิงสาวหวาดผวาไม่ไม่เป็นอันกินอันนอน ร่างกายผ่ายผอมทรุดลงอย่างน่าใจหาย และภาวะน่าพรั่นพรึงดังกล่าว ได้กดดันบีบคั้นครอบครัวนี้ให้เผชิญกับความทุกข์ทรมานใจอย่างสาหัส
ผู้เป็นพ่อโกรธแค้นวิญญาณผีตายโหง ที่ตามรังควานลูกสาวไม่ยอมเลิก ถึงกับระเบิดโทสะออกมา ขู่ว่าจะยิงผีร้ายให้แหลกกระจายคามือ แทนที่วิญญาณซึ่งมาเข้าสิงลูกสาวจะหวาดหวั่นพรั่นพรึง มันกลับเยาะเย้ยท้าทายให้ยิงได้เลย เพราะถ้ายิงมันก็เท่ากับยิงลูกสาวตัวเอง จะกล้าทำล่ะหรือ
การที่วิญญาณผีตายโหงมาเข้าสิงหญิงสาวอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลายาวนานเช่นนี้ โดยไม่มีอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ มาขัดขวางมันได้ อาจจะเป็นเพราะวิบากที่เธอผู้นี้ กับวิญญาณของชายผู้ถูกยิงตายมีกรรมพัวพันต่อกัน และถึงวาระจะต้องชดใช้ จึงไม่สามารถสกัดกั้นหรือหยุดยั้งทุกกรณี และหากไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ผ่อนคลายหลุดพ้นจากวิบากนี้ ก็เชื่อแน่ได้ว่าหญิงสาวคงต้องถึงแก่ชีวิตอย่างแน่นอน
หรือเหตุที่เกิดนี้ อาจเนื่องจากวิญญาณผีตายโหงเพราะถูกผู้อื่นยิงตาย สิ้นชีวิตเพราะกรรมมาตัดรอนก่อนถึงอายุขัย วิญญาณจึงกลายเป็นผีเร่ร่อนไม่รู้จะไปทางไหน ประกอบกับจิตยังหลงมัวเมาอยู่ในกามตัณหา มีความอยากในกิเลสราคะรุนแรง จนไม่อาจแยกผิดชอบชั่วดีได้ ไม่รู้ว่าตนกับหญิงสาวอยู่กันคนละภพภูมิ มีอัตภาพที่แตกต่างกัน ครั้นมีความปรารถนาในหญิงสาวที่ตนพึงพอใจ จึงกระทำทุกวิถีทางจะครอบครองเป็นของตน แม้กระทั่งพยายามเบียดเบียนจะเอาชีวิตหญิงสาวให้ได้ แต่วาสนากรรมดีของหญิงสาวผู้นี้ยังมีอยู่ วิญญาณผีตายโหงจึงทำลายล้างชีวิตเธอไม่ได้ และคล้ายดั่งเป็นวาระที่หญิงสาวจะหลุดพ้นจากเงื้อมเงาของวิญญาณร้าย ได้มีคนรู้จักกับพ่อของหญิงสาวมาบอกว่า ควรไปของความเมตตาจาก หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก เถิด เพราะท่านเป็นพระเถระที่มีจิตตานุภาพสูงมาก อาจจะช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ทรมาน ที่ยำยีบีฑาลูกสาวจากวิญญาณร้ายได้ ผู้เป็นพ่อจึงตกลงใจเดินทางไปวัดสะแกทันที
วันที่ผู้เป็นพ่อหญิงสาวซึ่งถูกวิญญาณผีตายโหงเข้าสิงไปถึงวัดสะแก หลวงปู่ดู่กำลังพูดคุยอยู่กับศิษย์คนหนึ่งของท่าน พ่อหญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายจึงเข้าไปกราบนมัสการท่าน หลวงปู่ก็ทักทายปราศรัยถามไปว่าอยู่ที่ไหน มีเรื่องอะไรถึงได้มาที่นี่ ชายผู้แบกทุกข์เรื่องของลูกสาวก็เล่าเนื้อความถวาย ที่มีวิญญาณผีตายโหงตามรังควานลูกสาวให้ท่านฟังโดยละเอียด ลงท้ายด้วยการขอความเมตตาจากท่านช่วยกรุณาเปลื้องทุกข์ให้ด้วยเถิด
หลวงปู่ดู่นั่งรับฟังเงียบ ๆ เมื่อทราบจุดประสงค์ของผู้เป็นพ่อหญิงสาวที่ถูกผีสิง ท่านก็หันไปบอกลูกศิษย์ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ ว่า "แกช่วยเขาที เอาบุญ" ศิษย์ผู้นี้เป็นผู้ปฏิบัติธรรม กระทำความเพียรทางจิตอยู่กับหลวงปู่มานานพอสมควร จนเป็นที่ไว้วางใจของหลวงปู่ ก็ประนมมือรับคำ พ่อหญิงสาวรีบนมัสการเรียนถามหลวงปู่ว่า จะให้นำตัวลูกสาวมาที่วัดนี้หรือไม่
หลวงปู่ตอบสั้น ๆ ว่า "ไม่ต้อง"
จากนั้น หลวงปู่และศิษย์ของท่าน ก็นั่งหลับตาเจริญสมาธิสงบจิตพร้อม ๆ กัน ณ ที่ตรงนั้น มิได้เคลื่อนย้ายไปไหน หรือให้จัดเครื่องสักการะบัดพลีมาประกอบพิธีอย่างใดเลย แม้แต่ดอกไม้ธูปเทียนก็ไม่มีแม้แต่สิ่งเดียว พ่อของหญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายแอบคิดลังเลสงสัยว่า หลวงปู่ดู่จะช่วยลูกสาวให้พ้นจากอำนาจผีร้ายได้อย่างไร เพราะไม่เห็นมีพิธีกรรมอันเข้มขลัง ดังเช่นที่เคยเห็นพวกหมอผีมิวิชาอาคมกระทำกันมา
เวลาผ่านไปไม่ถึงอึดใจเสียด้วยซ้ำ หลวงปู่ดู่ก็พูดขึ้นเพื่อบอกกับศิษย์ของท่านว่า "เรียกผีมารับบุญหลวงปู่ทวด รับบุญข้า ให้โมทนาซะ จะได้ไปดี เป็นผีก็ไปเอาเมียผี ไม่ใช่เอาเมียคน รับบุญไปจะได้เมียนางฟ้าเยอะแยะ ดูด้วยว่าผีรับแล้วหรือยัง"
ศิษย์ของท่านนั่งลงสงบนิ่งอยู่ในสมาธิ คงจะติดต่อกับหลวงปู่ดู่โดยจิต จากนั้นหลวงปู่ก็กล่าวขึ้นอีก "รับแล้วใช่ไหม.....ไปเกิดซะ.....เอาละหมดเรื่อง"
พ่อของหญิงสาวที่ถูกวิญญาณผีตายโหงเข้าสิงเป็นพัก ๆ นานถึง ๓ ปี แม้จะเคารพหลวงปู่ดู่เพียงไร ก็ยังไม่วายลังเลสงสัยว่า บารมีธรรมของหลวงปู่จะช่วยลูกสาวให้พ้นจากอำนาจผีร้ายได้อย่างไร เพราะไม่เห็นท่านประกอบพิธีที่ชวนให้เกิดความขลังอย่างใดเลย อีกทั้งลูกสาวก็อยู่ไกลถึงอำเภอนครหลวง ซึ่งท่านไม่รู้ว่าบ้านเรือนตั้งอยู่ที่ไหน กิริยาอาการที่วิญญาณผีตายโหงเข้าสิงลูกสาวเป็นอย่างไร และท่านไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า เป็นลูกสาวคนไหนของตนถูกผีสิง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผีตายโหงมันจะหวาดกลัวหวั่นระย่อหลวงปู่ดู่ถึงกับยอมผละหนีไปจากลูกสาวง่าย ๆ ล่ะหรือ
เมื่อหลวงปู่ดู่และศิษย์ถอนจิตจากสมาธิ ผ่อนคลายอิริยาบถแล้ว ศิษย์ของท่านก็บอกกับชายคนนั้นว่า "ตอนนี้เขาไปเกิดแล้ว ผีเป็นเหตุ ลุงกลับบ้านไปลองดู ถ้าลูกสาวไม่เป็นอะไร แสดงว่าหาย"
ผู้เป็นพ่อของหญิงสาวเคราะห์ร้าย ก้มกราบหลวงปู่ดู่ด้วยความปีติยินดี แล้วนมัสการกราบลากลับไปบ้านตนที่อำเภอนครหลวง เวลาผ่านไปเกือบเดือน ชายคนเดิมก็เดินทางมาที่วัดสะแกอีก เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่ดู่ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แล้วรายงานให้หลวงปู่ทราบว่า
"ลูกสาวหายดีแล้วครับ ตั้งแต่วันนั้น ไม่มีอาการผีสิงอีกเลย เพราะหลวงปู่เมตตาไว้ครับ"
บารมีธรรมของ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เรื่องวิญญาณผีตายโหงเข้าสิงหญิงสาวอยู่อำเภอนครหลวงที่นำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงจิตตานุภาพเป็นอัศจรรย์ของผู้บำเพ็ญธรรมระดับสูง และบ่งชี้ให้รับรู้อีกประการหนึ่งนั่นคือ วิญญาณของผู้ที่ตายไปในลักษณะไม่ปกติ ตายเพราะมีกรรมมาตัดรอนก่อนถึงอายุขัยวันตายของตน ย่อมไปผุดเกิดในภพภูมิอื่นต่อไปไม่ได้ จึงต้องวนเวียนทุกข์ทรมานอยู่ในมิติของวิญญาณที่คาบเกี่ยวกับโลกมนุษย์ อีกทั้งยังมืดมัวด้วยกิเลสตัณหา หลงอยู่ในโมหะ อวิชชา ไม่ยอมรับรู้ตามความเป็นจริงว่า ตนเองตายไปแล้ว มีอัตภาพผิดแผกแตกต่างจากมนุษย์ ไม่อาจสามารถสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับมนุษย์ได้ทุกกรณี เหตุนี้ เมื่อมีกิเลสกามฟูขึ้นมากับหญิงสาวที่ตนหมายปอง จึงได้ตามรังควาน สร้างทุกข์ให้แก่ผู้อื่นนานถึง ๓ ปี
หากมิใช่บารมีธรรมของหลวงปู่ดู่ ที่แผ่เมตตาให้วิญญาณของผีตายโหง วิญญาณนี้คงจะไม่พ้นจากสภาวะที่จมอยู่ในห้วงกิเลสซึ่งรัดรึงเอาไว้ ส่วนที่จะไปผุดเกิดในภพภูมิใดต่อไป ก็คงเป็นไปตามยถากรรมของตน
เมื่อนำเรื่องของ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ซึ่งข้องเกี่ยวกับวิญญาณผีตายโหง ดังที่ได้พรรณนามา ก็จะขอนำอัตตประวัติอย่างย่อ ๆ มาแสดงให้ได้รับทราบโดยทั่วกันพอสังเขป รวมทั้งบารมีธรรมของท่านบางเรื่อง ซึ่งน่าพึงสดับดังนี้
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ถือกำเนิดในตระกูล "หนูศรี" มีชื่อว่า "ดู่" เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งเป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พ่วง มีพี่สาวร่วมบิดามารดา ๒ คน ท่านเป็นคนที่ ๓ เป็นบุตรคนสุดท้อง
อาชีพของโยมบิดามารดาเป็นชาวนา มีฐานะไม่ร่ำรวย เมื่อหมดหน้านา โยมทั้งสองจะช่วยกันทำขนมไข่มงคลออกเร่ขาย หารายได้อีกทางหนึ่ง
ขณะที่ท่านยังเป็นทารกน้อย ได้เกิดเหตุอัศจรรย์กับตัวท่านครั้งหนึ่ง กล่าวคือ เวลานั้นเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำเหนือได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มแถบอยุธยาแทบทั้งหมด ท้องนาและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีแต่น้ำเจิ่งนองไปทั่ว บ้านของโยมหลวงปู่ดู่ก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน วันนั้นโยมมารดาได้เอาเบาะซึ่งท่านนอนอยู่ไปวางตรงนอกชาน (ไม่มีระเบียงกั้น) ด้วยเห็นว่าเป็นที่โล่งโปร่ง ลมเย็นพัดโชยตลอดเวลา แล้วโยมมารดาก็ไปช่วยโยมบิดาทอดขนมไข่มงคลในครัว
ขณะที่โยมทั้งสองกำลังง่วนอยู่กับการทอดขนม ก็ได้ยินเสียงสุนัขเลี้ยง เห่าขรมตรงนอกชาน แล้ววิ่งเข้ามาเห่าในครัวด้วยท่าทางลุกลน ก่อนจะวิ่งพล่านออกไปเห่าตรงนอกชานอีก โยมเห็นสุนัขแสดงกิริยาแปลก ๆ รีบออกจากห้องครัวมาดู มองไปที่เบาะลูกชาย ปรากฎว่า หายไปก็ตกใจสุดขีด วิ่งถลันไปที่สุดนอกชาน กวาดสายตามองหาไปรอบทิศ จึงได้เห็นเบาะหล่นจากชานเรือนลงไปในน้ำที่ท่วมเจิ่งด้านล่าง และลอยไปติดริมรั้ว
กลางเบาะนั้นมีลูกชายตัวน้อย ๆ นอนร้องอ้อแอ้อยู่
โยมบิดารีบโดดโครมลงไปในน้ำ ลุยไปที่เบาะลูกชาย เมื่ออุ้มลูกขี้นมา ปรากฎว่าไม่เป็นอันตรายอย่างใด จึงประคับประคองกลับขึ้นบ้าน ด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจเหลือจะกล่าว
โยมทั้งสองคิดหาสาเหตุที่ลูกตกไปในน้ำพร้อม ๆ กับเบาะก็นึกไม่ออกว่าลูกจะดิ้นจนเบาะเลื่อนไหลไปจนสุดนอกชาน แล้วตกลงไป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะลูกยังไม่คว่ำเสียด้วยซ้ำ จะดิ้นรนตะกายอย่างไร ก็ไม่ทำให้เบาะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ไปไกลถึงเพียงนั้น หรือจะว่ามีลมพัดอย่างแรงถึงกับหอบเอาเบาะลูกหล่นน้ำ ตนอยู่ในครัวใกล้ ๆ ทำไมจึงไม่รู้ว่ามีลมพัด และถ้ากระแสลมรุนแรงถึงขั้นหอบเอาเบาะกับลูกปลิวตกเรือนไปได้ หลังคาบ้านก็คงเปิดเปิงด้วยกระแสลมไปแล้ว
และที่น่าแปลกน่าอัศจรรย์ก็คือ เมื่อเบาะมีเด็กทารกนอนอยู่ตกลงไปในน้ำ เหตุใดเบาะไม่พลิกคว่ำ หรือตัวเด็กเลื่อนไหลตกน้ำไป ซ้ำเบาะยังลอยน้ำได้ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เบาะไม่ควรจะรับน้ำหนักเด็กไว้ได้ถึงเพียงนั้น
โยมบิดามารดาจึงเชื่อมั่นว่า ลูกของตนมีบุญวาสนามาแต่กำเนิดแน่นอน ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะทารกน้อยผู้นี้เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ก็ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์จนชั่วชีวิต ได้บำเพ็ญพียรปฏิบัติสมณธรรมจนกล่าวได้ว่า ท่านบรรลุอรหัตมรรคผลอีกรูปหนึ่ง
ชีวิตเยาว์วัยของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ท่านต้องเผชิญกับการพลัดพรากที่รุนแรงร้ายกาจอย่างยิ่ง นั่นคือโยมมารดาเสียชีวิตไปก่อนขณะท่านยังเป็นทารก ครั้นอายุได้ ๔ ขวบ โยมบิดาก็เสียชีวิตตามไปอีกคน ต้องอาศัยอยู่กับยาย โดยมีพี่สาวชื่อ สุ่ม เป็นผู้เลี้ยงดูเอาใจใส่ เมื่อเจริญเติบโตถึงวัยเรียน ก็เข้าศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
อายุครบ ๒๑ ปี จึงได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแด เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พรหมปัญโญ ภิกขุ"
ในพรรษาแรก ๆ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม (สมัยนั้นเรียกวัดประดู่โรงธรรม) พระอาจารย์ผู้สอนคือ ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และหลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐาน ท่านได้รับการสอนจากหลวงพ่อกลั่น ผู้เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และหลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่านเอง นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษากับพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานอีกหลายรูป ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสระบุรี
ประมาณพรรษาที่สาม หลวงปู่ดู่จึงออกเดินธุดงค์เดี่ยวจากพระนครศรีอยุธยา ไปยังสระบุรี เพื่อไปนมัสการพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาท จากนั้นก็จาริกย้อนมาทางสุพรรณบุรี ตัดเข้ากาญจนบุรี แต่ธุดงค์ได้เพียง ๓ เดือน ก็ต้องกลับวัดสะแก เนื่องจากอาพาธอย่างหนัก ตลอดเวลาที่ครองเพศบรรพชิต หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ปฏิบัติธรรมกรรมฐานอย่างเคร่งครัดจริงจัง การกระทำความเพียรของท่าน ก็เพื่อตัดขาดจากสายใยของวัฏสงสารให้สะบั้นไปในชาตินี้ จะได้ไม่ต้องสืบภพสืบชาติต่อไปอีก
กล่าวได้ว่า ภูมิรู้ภูมิธรรมของหลวงปู่ดู่ มุ่งสู่มรรคผลนิพพานเป็นแนวตรง ซึ่งในอัตประวัติท่าน มีเกร็ดเล็ก ๆ ที่แสดงให้เห็นชัดเจนพอสมควร ดังจะนำมาเล่าดังต่อไปนี้
กล่าวคือเมื่อครั้งที่หลวงปู่ดู่มีพรรษาไม่มากนัก ที่วัดสะแกมีเรื่องเดือดร้อนรำคาญใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ พวกโจรใจบาปหยาบช้า มักจะเข้ามาลักขโมยสิ่งของในวัดเนือง ๆ บางครั้งขณะที่หลวงปู่ดู่นอนอยู่ พวกมันก็ยังบังอาจเข้ามาลักขโมยเอาไปต่อหน้าต่อตา
หลวงปู่ดู่เคยทราบจากตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า พระอาจารย์ธรรมโชติ มีคาถาอาคมขลังอยู่บทหนึ่ง สำหรับกำหราบขโมย หากมีใครลักขโมยสิ่งของไป จะต้องกลับเอามาคืนหมด แต่พระอาจารย์ธรรมโชติได้ล่วงลับไปนานแล้ว และไม่มีผู้ใดสืบทอดวิชานี้เอาไว้ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้พระอาจารย์ธรรมโชติมาสอนวิชาอาคมนี้แก่ท่านในนิมิต แต่ก็ไม่เคยมีนิมิตปรากฎเอาเสียเลย กระทั่งเวลาผ่านไปหลายปี ทำให้ท่านลืมเรื่องที่อธิษฐานจิตเรื่องนี้โดยสนิท
ท่านผู้อ่านอาจจะเลือน ๆ เรื่องของพระอาจารย์ธรรมโชติไปแล้วก็ได้ ดังนั้นจะขอทบทวนความทรงจำสักนิด
กล่าวคือ ก่อนมหาธานีกรุงศรีอยุธยาจะถึงกาลล่มสลายในครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ด้วยน้ำมือของพม่าข้าศึก คนไทยทุกคนย่อมจะจำกันได้ถึง วีรกรรมค่ายบางระจัน นักรบไทยใจหาญกล้ามิว่าชายหญิง รวมตัวกันปักหลักสร้างค่ายสู้กับทหารพม่าอย่างยิบตา พม่ายกกองทหารมาตีคราวใดก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปคราวนั้น
ณ ที่ค่ายบางระจันนี้ นามของ พระอาจารย์ธรรมโชติ ก็เป็นที่ปรากฎ และได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระภิกษุผู้ทรงวิชาอาคมเป็นเลิศ ได้มาเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้แก่ชาวค่ายบางระจันตลอดเวลาที่สู้ศึกกับพม่า ตราบกระทั่งค่ายบางระจันถูกถล่มจนค่ายแตก ประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับ วีรบุรุษวีรสตรีลูกค่ายบางระจันสู้ศึกจนตัวตายเกลื่อนค่าย เกลื่อนแผ่นดินเป็นที่เลื่องลือ
และพระอาจารย์ธรรมโชติก็สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ในประวัติศาสตร์มิได้บันทึกเอาไว้ว่า พระอาจารย์ธรรมโชติหายสาปสูญไปเช่นไร แต่เป็นที่เชื่อได้ข้อหนึ่งว่า คมดาบของพม่าข้าศึกคงไม่มีทางระคายแม้แต่เงาของท่าน
นับแต่ค่ายบางระจันแตก กรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ตราบกระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราช สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี แล้วมาถึงรัชสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นครองราชย์ ย้ายเมืองหลวงมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรุงเทพมหานคร กาลเวลาล่วงเลยไปนานแสนนานเช่นนี้ พระอาจารย์ธรรมโชติย่อมมรณภาพไปแล้วตามวงวัฏแห่งอนิจจัง วิญญาณของท่านจะไปสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใด ย่อมยากที่จะรู้ได้
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ในกาลต่อมา ท่านผ่านพรรษามานานหลายพรรษาแล้ว และรับศิษย์ไว้ผู้หนึ่ง ซึ่งกล่าวได้ว่า ศิษย์ผู้นี้กับท่านมีวาสนาเกื้อกูลกันโดยตรงก็ว่าได้ เพราะศิษย์คนนี้มิใช่พุทธศาสนิกชน หากนับถือศาสนาคริสต์ ระยะแรก ๆ ที่มาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ เขาไม่มีศรัทธาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ต่อมาจึงได้ยอมปฏิบัติ และก้าวหน้าในทางธรรมกรรมฐานอย่างเหลือเชื่อ กระทั่งวันหนึ่งเข้าไปเจริญสมาธิในกุฏิกับหลวงปู่ดู่ ได้ปรากฎหลวงปู่ทวดในนิมิต แต่ด้วยเหตุผลทางศาสนา จึงไม่ยอมกราบไหว้นมัสการหลวงปู่ทวด
ในที่สุด เขาก็ต้องก้มกราบหลวงปู่ทวด ด้วยความเคารพศรัทธาอย่างหาที่เปรียบมิได้ วันหนึ่ง ศิษย์คนนี้มารายงานผลการปฏิบัติของตนต่อหลวงปู่ดู่ตามปกติ จากนั้น จึงได้กราบเรียนถามท่านว่า
"หลวงลุงครับ หลวงลุงรู้จักหลวงพ่อพระอาจารย์ธรรมโชติไหมครับ"
ได้ยินลูกศิษย์ถาม หลวงปู่ดู่เพิ่งฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ท่านเคยอธิษฐานถึงพระอาจารย์ธรรมโชติ ขอคาถากำราบโจรไว้นานแล้วจนลืม จึงตอบลูกศิษย์ว่า "รู้จักซิ" แล้วเล่าให้ฟังที่ท่านเคยอธิษฐานขอให้พระอาจารย์ธรรมโชติมาปรากฎในนิมิต ศิษย์จึงกราบเรียนถวายว่า
"พระอาจารย์ธรรมโชติ ท่านสั่งให้มาเรียนหลวงลุงว่า คาถาที่ของนั้นยังเป็นโลก ติดอยู่ในโลก ไปไม่ได้ แต่วิธีการของหลวงลุงเป็นการทำตัวให้พ้นโลก ที่ท่านทำนั้นสูงแล้ว"
ขณะที่ศิษย์ซึ่งเคยนับถือศาสนาคริสต์ มารายงานผลการปฏิบัติ และเล่าเรื่องพระอาจารย์ธรรมโชติ (มาปรากฎในนิมิต) สั่งความมาถึงหลวงปู่ดู่ มีศิษย์คนอื่น ๆ นั่งฟังอยู่ด้วยหลายคน ท่านจึงพูดให้ได้ยินกันทุกคนว่า
"ที่จริงข้าลืมไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะขอมานมนานกาเล แต่ท่านยังอุตส่าห์บอกถึงข้าจนได้"
จากเกร็ดเล็ก ๆ เรื่องนี้ ท่านสาธุชนคงพอจะทราบแล้วว่า หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ บรรลุภูมิธรรมระดับใด
เมื่อนำเรื่องของหลวงปู่ดู่มาพรรณนาดังที่ท่านได้อ่านมาแล้ว ย่อมเห็นว่า ท่านมีแนวทางในการกระทำความเพียรเพื่อสิ้นทุกข์ สิ้นกิเลส ในชาตินี้ชัดเจน พร้อมกันนี้ ยังกอร์ปด้วยเมตตาบารมี ยินดีสงเคราะห์ญาติโยม ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ซึ่งยากจะแก้ไขได้ด้วยตัวเองให้ผ่อนคลายลงได้
อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงปู่ดู่มักจะกล่าวเตือนศิษยานุศิษย์ ทั้งที่ใกล้ชิดและห่างไกล ตลอดจนสาธุชนญาติโยมทั้งหลาย ให้พึงสังวรอยู่เสมอก็คือ เรื่องควรงดเว้นกระทำกรรมชั่วโดยเด็ดขาด โดยท่านจะนำเอาพุทธพจน์ที่ว่า "ขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า" มาเป็นข้อเตือนสติแก่ทุกคน เพราะการกระทำกรรมใด ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมเลวก็ตาม จิตของผู้นั้นจะบันทึกเก็บงำข้อมูลเอาไว้โดยละเอียด เมื่อใดที่ถึงกาลมรณะ จิตตัวนี้จะเป็นตัวชี้นำไปสู่สุคติ หรือทุคติอย่างชัดเจน
จิตตัวนี้สำคัญนัก แม้เพียงไปยึดติดหรือข้องอยู่กับกรรมเพียงน้อยนิด ขณะใกล้จะสิ้นใจตาย ก็ยังสามารถเบี่ยงเบนจุดหมายปลายทางที่จะไปเกิดได้ ลักษณะที่จิตไปจับกรรมในขณะกำลังจะถึงมรณกาล เรียกว่า "มรณาสันนวิถี" นี้ หลวงปู่ดู่ท่านเคยกล่าวถึง พระภิกษุผู้ปฏิบัติกรรมฐานขั้นสูงรูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนี้ หรือ อาจารย์รูปนี้เป็นที่แน่ใจว่า ไม่มีทางไปสูทุคติ หรือ ภูมิแห่งความทุกข์ยากลำบากอย่างแน่นอน ท่านถึงกับบอกแก่บรรดาศิษย์ของท่านว่า "หากท่านมรณภาพวันใด ทุกคนจะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพนมารับ" (คงหมายถึง เหล่าเทวดาแสดงเสียงดนตรีสวรรค์ต้อนรับ)
ต่อมาอาจารย์รูปนี้อาพาธ และมีอาการทรุดหนักเกินกว่าจะเยียวยารักษาได้ กระทั่งมรณภาพ ในวันมรณภาพนั้น ศิษยานุศิษย์ และทายก ทายิกา มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เมื่ออาจารย์สิ้นลมหายใจ ทุกคนก็คิดว่า จะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพน แต่กลับไม่ได้แว่วเสียงอะไรเลย ทุกคนต่างพากันผิดหวังระคนเสียใจ ที่อาจารย์ของตนไม่ได้ไปดีดังที่ท่านตั้งปณิธาน และเชื่อมั่น อีกทั้งยังเกิดห่วงใยอาจารย์ไปต่าง ๆ นานา
เหตุที่อาจารย์มิได้ไปตามวิถีดังที่ตั้งใจ หลังจากมรณภาพแล้วนั้น เนื่องจากก่อนท่านจะอาพาธ มีโยมนำอ้อยมาถวาย ท่านจึงได้นำไปปลูกไว้ และเอาใจใส่รดน้ำอยู่เสมอ จนอ้อยเจริญงอกงามขึ้น เรื่อย ๆ ขณะที่ท่านใกล้จะถึงกาลมรณภาพ เกิดคิดไปถึงอ้อยกำลังเจริญงามเต็มที่ น่าจะตัดอ้อยไปปอกถวายพระฉัน
ด้วยเหตุที่จิตไปข้องอยู่กับอ้อย เมื่อสิ้นใจตาย จึงไปเกิดเป็นตัวเล็น ติดอยู่ที่ต้นอ้อย ไปไหนไม่รอด
พิธีงานศพของอาจารย์ยังดำเนินไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ ๗ ทายกเห็นอ้อยกำลังงาม จึงได้ตัดไปปอกเปลือกแล้วควั่นอ้อยถวายพระ เป็นโอกาสดีของอาจารย์ท่าน จึงโมทนาไม่ติดเกาะอยู่ที่นั่นอีก
ทันทีที่อาจารย์หลุดพ้นจากอัตภาพตัวเล็น เสียงปี่พาทย์ราดตะโพนก็ดังกังวานขึ้นในอากาศ เป็นที่ประจักษ์ของผู้ร่วมงานทุกคน ทำให้ทายก ทายิกา และบรรดาศิษย์ทั้งหลาย บังเกิดความปีติปราโมทย์กันทั่วหน้า เพราะเป็นไปตามวาจาของอาจารย์ทุกประการ
เหตุนี้ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ จึงกล่าวย้ำซ้ำเตือนตามพุทธพจน์เสมอว่า "ขึ้นชื่อว่าความชั่ว ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า"เพราะถ้าจิตไปยึดติดกรรมเพียงน้อยนิด ก็ยังไม่อาจไปสู่สุคติได้ ดังเช่น อาจารย์ซึ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาอย่างเคี่ยวกรำ กระทั่งจิตหมดจดสดใสแล้ว เพียงแค่เกิดความห่วงใย "อยาก" จะนำอ้อยไปถวายให้พระฉันเท่านั้น ถึงกับไปไหนไม่รอดเอาดื้อ ๆ ดังเรื่องราวซึ่งได้กล่าวมาแล้ว
***********************************************
โดย มนต์ พันลาย
จากหนังสือ "วิญญาณอาถรรพณ์"