ความเป็นมา ของ พิธีล้างป่าช้า จากประเทศจีนสู่เมืองไทย
นานมาแล้วที่ดินแดนอันไกลโพ้นหลังกำแพงเมืองจีน
มีตำนานเล่ากันมาว่าครั้งหนึ่งเมืองจีนได้เกิดน้ำท่วมและโรคระบาด
ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากล้มตายเกลื่อนกลาด
แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่าไตฮงกง ท่านไม่รังเกียจศพเหล่าได้
ได้เกณฑ์ญาติโยมที่ยังมีชีวิตอยู่ ออกตระเวนเก็บศพมาทำประกอบพิธีให้
ทำให้คนที่สืบทอดมารุ่นหลังนับถือจริยธรรมของท่านที่ดีงาม
คือเรื่องของการเก็บศพ จนทำให้เกิดพิธีล้างป่าช้า
เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับศพที่ไม่มีญาติ เพื่อให้ไปสู่สุคติ
ต่อมาเมื่อชาวจีนได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามายังสยามประเทศ
ก็ได้นำเอาความเชื่อเหล่านั้นติดตัวมาด้วย
จึงได้ก่อตั้งเป็นสมาคมและมูลนิธิต่างๆที่ไม่แสวงหากำไร
อาทิ มูลนิธิปอเต็กตึ้ง ที่นับถือเทพเจ้าไตฮงกง หรืออย่างเช่น
สหพันธ์การกุศล เต็กก่า แห่งประเทศไทย
ที่นับถือเทพเจ้าจี้กง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ดำเนินงานช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินการมาหลายสิบปีสหพันธ์ฯเต็กก่า
มีสาขามากกว่า 79 สาขา แม้จะมีชื่อลงท้ายที่แตกต่างกัน
แต่จุดมุ่งหมายในการดำเนินการเหมือนกัน
คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทน
แม้กระทั่งคนที่ตายไปแล้วก็ยังได้รับการเหลียวแล
ด้วยพิธีกรรมล้างป่าช้าที่จะจัดขึ้นทุกปี
กระจายไปตามภาคต่างๆของประเทศไทย
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว