ประเพณีฟ้อนผี การฟ้อนรำสังเวยผีบรรพบุรุษ!

ประเพณีการฟ้อนผีของชาวล้านนา คล้ายกับการลงผี (เข้าทรง) ผีเจ้าพ่อของท้องถิ่นอื่น นิยมเรียกกันว่า “ฟ้อนผีมด-ผีเม็ง” เป็นการฟ้อนรำเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวล้านนา (ชาวบ้านในท้องถิ่นภาคเหนือ) นับถือกัน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สันนิษฐานกันว่ารับมาจากชาวมอญ เพราะคำว่า “เม็ง” ภาษาล้านนาหมายถึงชาวมอญการแต่งกายของผู้เข้าร่วมพิธีก็จะคล้ายกับชาวมอญ ประเพณีฟ้อน ผีมด-ผีเม็ง นิยมทำกันในช่วงเดือน 5 เหนือ (เดือน 3 ของภาคกลาง) หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ไปจนย่างเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วและยังว่าง เหมาะที่ญาติพี่น้องจะมารวมตัวพบปะกันเพื่อช่วยกันจัดเตรียมงาน และถือโอกาสสังสรรค์เป็นงานรวมญาติของคนในสายตระกูลไปด้วยในตัว

ประเพณีฟ้อนผี การฟ้อนรำสังเวยผีบรรพบุรุษ!

ประเพณีฟ้อน ผีมด-ผีเม็ง นี้จะจัดกันภายในสายตระกูล ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา คนเราจะมีผีบรรพบุรุษ (บางครั้งเรียก ผีปู่ย่า หรือ เจ้าปู่เจ้าย่า) ซึ่งหมายถึงปีผู่ย่าตายายญาติผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลที่เสียชีวิตไปแล้ว ยังคอยปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานในวงศ์ตระกูล ความหมายในอีกแง่หนึ่ง “ผีมด” หมายถึงผีระดับชาวบ้าน สืบเชื้อสายจากชาวไทใหญ่ ส่วนผีเม็ง หมายถึงผีระดับแม่ทัพนายกอง สืบเชื้อสายจากชาวมอญ ลูกหลานจะทำที่สถิตของผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “หอผี” ไว้ทางทิศหัวนอนของบ้านผู้เป็น “เก๊าผี” หมายถึงผู้หญิงที่เป็นใหญ่ที่สุดในวงศ์ตระกูล ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเวลาอันสมควร ก็จะต้องจัดพิธีเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ อาจจะจัดเป็นรอบทุกๆ 2 ปีหรือ 3 ปีแล้วแต่จะกำหนด


ประเพณีการฟ้อนผีจะจัด 2 วัน วันแรกเรียกว่า “วันข่าว” หรือ “ป่าวข่าว” เป็นการบอกให้ญาติพี่น้องในสายตระกูลมาร่วมชุมนุมกันที่บ้านงานเพื่อเตรียมงานก่อนจะถึงวันงาน ส่วนอีกวันเป็นวันจริงที่มีการเชิญผีเข้าทรงและมีพิธีกรรมการฟ้อน โดยหอผีแต่ละหอหรือตระกูลผีแต่ละตระกูลจะจัดงานฟ้อนผีไม่ให้ซ้ำกับวันงานของตระกูลอื่น เพราะจะมีการเชิญคนทรงและผีจากตระกูลอื่นมาร่วมงานด้วย

การแต่งกายของม้าขี่ (ร่างทรง) ที่คล้ายกับลักษณะการแต่งกายของชาวมอญ (เม็ง) (ภาพม้าขี่ชาวจังหวัดเชียงราย) ในวันงานพิธีกรรมจะเริ่มแต่เช้า โดยเก๊าผีทำพิธีสักการบูชาผีบรรพบุรุษซึ่งอยู่บนแท่นบูชา ณ หอผีประจำบ้านก่อน มีการอธิษฐานขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้การจัดงานราบรื่น ให้คนในตระกูลอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบอาชีพเจริญก้าวหน้า จากนั้นจะกล่าวเชิญผีไปยังผามที่เตรียมไว้เพื่อเข้าทรง การเข้าทรงของผีมดไม่ยุ่งยากเพราะพออธิษฐานเสร็จผีก็จะเข้า ส่วนผีเม็งนั้นต้องโหนผ้าขาวที่อยู่กลางผามแล้วหมุนตัวไปรอบๆผีจึงจะเข้า ผีจะเข้าเก๊าผีก่อนเป็นคนแรก ต่อมาก็จะเข้าคนอื่นๆในตระกูล เวลาผีเข้าร่างทรงคนไหนแล้ว จะมีคนนำเครื่องบวงสรวงซึ่งมีขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย และมะพร้าวอ่อนมาให้ ร่างทรงจะรับไว้

จากนั้นร่างทรงจะลุกไปเลือกเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวที่ชอบและสวมทับ จะมีการซักถามกันเล็กน้อยโดยมีล่ามซึ่งเป็นคนที่ชอบพูดคุยซักถาม ถ้าเป็นคำตอบที่ถูกผีก็จะผงกหัว คำถามที่ใช้เช่น เป็นใคร มาจากไหน มาด้วยวิธีใด เป็นต้น จากนั้นจะเป็นการฟ้อนสังเวย มีวงปี่พาทย์บรรเลง ปี่พาทย์นี้เป็นปี่พาทย์แบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งมีจังหวะคึกคักเร้าใจ มีการร้อง “ฮิ้วๆ” ประกอบการฟ้อนรำไปด้วยอย่างสนุกสนาน ร่างทรงส่วนมากจะเป็นผู้หญิง มีตั้งแต่คนแก่อายุหลายสิบปีไปจนเด็กสาวรุ่นอายุสิบกว่า ถ้าเป็นผู้ชายฟ้อนจะฟ้อนดาบ พิธีกรรมจะเริ่มตั้งแต่เช้าไปจนเย็น มีการฟ้อนสังเวยไปเรื่อยๆ พอเที่ยงวันจึงหยุดพักรับประทานอาหาร จะมีการถวายอาหารให้ผีกินก่อนจากนั้นคนจึงกินต่อ เจ้าภาพจะถวายอาหารคาวหวานต่างๆที่เตรียมไว้โดยจัดใส่ขันโตกเป็นชุดๆ จากนั้นจะมอบดาบให้ร่างทรงคนละอันโดยจุดเทียนไขผูกปลายดาบ

ร่างทรงจะรับดาบไปเวียนรอบๆอาหารทุกจานจนครบเป็นอันเสร็จพิธีถวายอาหารให้ผี ในการรับประทานอาหารผีมดจะรับประทานอาหารทุกชนิดทั้งคาวและหวาน ส่วนผีเม็งจะเลือกรับประทานเฉพาะอาหารหวานและน้ำมะพร้าวเท่านั้น หลังจากฟ้อนมาตลอดทั้งวันแล้วก็จะถึงเวลาส่งผี จังหวะดนตรีปี่พาทย์จะช้าลงจนหยุดบรรเลง ร่างทรงจะเดินไปที่หอผีและการขับจ๊อยซอเป็นกลอนสดเสียงโหยหวน มีขันดอกไม้ธูปเทียนพร้อมอาวุธ เช่น ดาบ นำมาฟ้อนเป็นจังหวะเนิบนาบอ่อนช้อย ก่อนผีจะออกจะรับขันข้าวตอกดอกไม้ เมื่อเสร็จแล้วจะล้มฟุบลงกับพื้นถือว่าผีออกแล้ว ร่างทรงก็เข้าสู่สภาพปกติ หลังจากเสร็จพิธีแล้วผู้คนในตระกูลก็จะช่วยกันรื้อผามทำความสะอาดสถานที่ และรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน

ประเพณีฟ้อนผี การฟ้อนรำสังเวยผีบรรพบุรุษ!

ม้าขี่ที่ส่วนมากจะเป็นเพศหญิง หน้าที่ของผู้เข้าร่วมพิธีกรรมเนื่องจากเป็นงานที่จัดกันในวงศ์ตระกูล ลูกหลานแต่ละคนจะมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

“ม้าขี่” หรือบางครั้งเรียกว่า “ที่นั่ง” หมายถึงผู้ทำหน้าที่เป็นร่างทรงนั่นเอง ส่วนมากจะเป็นเพศหญิง หน้าที่นี้จะเป็นหน้าที่ประจำ ถ้าจะเปลี่ยนต้องขออนุญาตจากผีเสียก่อน จะเปลี่ยนโดยพลการไม่ได้
“ควาญ” คือ ผู้มีหน้าที่ปรนนิบัติผี มีหน้าที่ช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่อง จัดหาน้ำดื่ม น้ำมะพร้าว สุราหรือเครื่องดื่ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ฯลฯ ตามแต่ผีจะเรียกหา เวลาผีจะไปงานฟ้อนที่ผามอื่นๆ ควาญก็จะติดสอยห้อยตามทำหน้าที่หิ้วข้าวของเครื่องใช้ตามไปด้วย
“กำลัง” หรือ “กำลังผาม” หมายถึง พลังของวงศ์ตระกูลที่มีอยู่ในรูปของ “กำลังกาย” หรือแรงงานจากคนและ “กำลังทรัพย์” ที่สามารถระดมได้จากลูกหลานในตระกูลนั่นเอง คำว่า กำลัง มักใช้กับบรรดาลูกหลานเพศชาย ซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ปลูกสร้างผาม แบกขนอุปกรณ์ ประกอบอาหาร ยกสำรับ ตักน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ


ข้อพึงปฏิบัติ-ข้อห้ามในพิธีกรรม

ในการสร้างผามต้องระมัดระวังในการผูกโครงหลังคา เรียงหัวไม้ท้ายไม้ให้ไปในทางเดียวกันการประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงผี ห้ามหยิบเครื่องปรุงต่าง ๆ มากิน แม้แต่การปรุงรสก็ห้ามชิมต้องแสดงถึงความเป็นผู้มีสัมมาคารวะต่อร่างทรงทั้งหลาย แม้ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์ ม้าขี่ ที่เป็นร่างทรงของผีอาจเป็นภรรยา พี่ น้อง ลูกหลาน หรือเพื่อนก็ตาม ห้ามทำเล่นหัว ล้อเล่น หรือแสดงกิริยาไม่เป็นการเคารพบุคคลภายนอกเมื่อต้องการเข้าไปชม ควรขออนุญาตเจ้าของงานหรือญาติพี่น้องเสียก่อนอุปกรณ์เครื่องใช้ในการสร้างผามเมื่อนำมาปลูกสร้างแล้วถือเป็นของผี หากต้องการนำมาใช้เพื่อสร้างผามอีกหรือต้องการเอาไปทำประโยชน์อื่นใด ต้องขออนุญาตจากผีเสียก่อน


ที่มาจาก Thai ghost legend


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์