ท่านมีสิทธิ์ที่จะเชื่อ...หรือ...ไม่เชื่อ..!
กฏแห่งกรรม เป็นกฏของธรรมชาติที่เมื่อทำเหตุใดไว้ ย่อมต้องได้รับผลที่สอดคล้องต้องกันอย่างแน่นอน
ท่านมีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อ แต่ก็มิได้หมายความว่าสิ่งที่ท่านไม่เชื่อจะไม่จริง เพราะสิ่งที่เป็นจริง ท่านอาจจะไม่เชื่อก็ได้ความเชื่อและความจริงเป็นคนละอย่าง สิ่งที่เราเชื่ออาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น โดยไม่แปรเปลี่ยนไปตามความเชื่อ หน้าที่ของเราก็คือ ทำความเชื่อให้ใกล้กับความจริงมากที่สุด จนกระทั่งความเชื่อกับความจริงเป็นสิ่งเดียวกัน !
ลูกพี่ลูกน้องของข้าพเจ้าคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐบาลในต่างจังหวัด
ไม่นานมานี้ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยี่ยมเยียน หมอน้องชายเล่าเรื่องแปลกของคนไข้รายหนึ่งให้ฟัง ซึ่งน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้คนละบาปได้ดี จึงขอเล่าสู่กันฟังต่อ. โรงพยาบาลที่น้องชายทำงานอยู่เป็นโรงพยาบาลขนาดกลางประจำอำเภอ คนไข้ไม่มากนักเพราะคนที่พอมีฐานะสักหน่อย หากอาการน่าเป็นห่วงก็มักจะส่งตรงโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ ฉะนั้นหมอน้องชายจึงต้องรับหน้าที่เป็นทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นแพทย์เฉพาะทางทุกโรค เป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดและแม้กระทั่งเป็นแพทย์เวร
การสนทนาตอนหนึ่ง หมอน้องชายเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เป็นหมอมาไม่เคยเห็นผู้ป่วยรายใดต้องผ่าตัดทุลักทุเลซ้ำซากอย่างนี้เลย
สามปีต้องตัดห้าครั้งและหนักหนายิ่งขึ้นทุกครั้ง ผู้ป่วยรายนี้ชื่อบุญมา ครั้งแรกที่เข้าโรงพยาบาลก็เพื่อมาทำแผลที่นิ้วก้อยที่ถูกตะพาบน้ำกัด หมอให้ทายากินยาแก้ปวดแก้อักเสบแล้วกลับบ้านดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอีก ครึ่งเดือนต่อมาบุญมากลับมาใหม่ แผลเก่าอักเสบรุนแรงบวมใหญ่
หมอตรวจพบว่าเชื้อโรคกินเข้ากระดูก จะต้องตัดนิ้วเพื่อไม่ให้เน่าลุกลาม ซึ่งนิ้วเท้านั้นอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลังจากนั้นครึ่งปี บุญมาไปเที่ยวชายทะเล เขาถูกตะพาบน้ำกัดที่นิ้วเท้าอีก อะไรจะเจาะจงได้ถึงอย่างนั้น
นิ้วเท้าของบุญมาที่ถูกตะพาบน้ำกัดครั้งที่สองอักเสบบวมใหญ่ภายในเวลาสองวัน เมื่อมาฉายเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลก็ได้พบอีกว่า เชื้อโรคกินเข้าไปถึงกระดูกหมด จึงต้องตัดนิ้วเท้าของเขาไปอีกหนึ่งนิ้ว เวลาผ่านไปไม่ถึงหนึ่งปี บุญมากลับมาที่โรงพยาบาลอีก
ครั้งนี้แผลเก่าทั้งสองแห่งเกิดอักเสบบวมใหญ่ขึ้นพร้อมกัน พอเอกซเรย์ก็พบว่าแย่แล้ว !
เชื้อโรคแพร่เข้าไปกินกระดูกอย่างรุนแรง เชื้อโรคนั้นกำลังกลายเป็นมะเร็ง จะต้องผ่าตัดฝ่ามือฝ่าเท้าออกให้หมดก่อนที่จะลุกลามขึ้นไปอีก บุญมาต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลถึงยี่สิบกว่าวันด้วยสภาพของผู้ป่วยด้วน วันหนึ่งลูกชายของญาติอุปสมบท บุญมาไปช่วยงานคืนนั้น ผู้ร่วมงานบวชนอนค้างที่วัดกันสี่ห้าสิบคน เคราะห์หามยามร้ายของบุญมายังไม่จบสิ้น หนูตัวหนึ่งเจาะจงมากัดตรงขาด้วนของบุญมาคนเดียว กัดแล้วก็หนีไป บุญมาสะดุ้งตื่นด้วยความเจ็บปวด คนที่นอนอยู่ด้วยกันตกใจกับเสียงร้องพากันตื่นหมด แผลที่หนูกัดไม่กว้างไม่ลึกนัก มีเลือดซึมออกมา แต่ทุกคนพากันตกใจที่อยู่ดีๆ ทำไมจึงมีหนูมากัดคนนอนหลับ
เพราะหนูจะกัดกินก็เฉพาะศพเท่านั้น ไม่กัดกินคนเป็นๆ บุญมาขวัญเสีย ถูกเคราะห์กรรมซ้ำเติมจนคิดว่าตนคงจะต้องตายในไม่ช้า
มันทารุณจิตใจมาก ไม่นานต่อมาเกิดอาการเจ็บคันบริเวณแผลเก่าที่มือที่เท้าอีก บุญมารีบมาหาหมอที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ผลการฉายเอกซเรย์ปรากฏว่าเชื้อมะเร็งกินลึกเข้าไปมาก หมอจำเป็นต้องจัดการตัดแขนขาทั้งท่อนของบุญมาทิ้งไป หมอน้องชายซึ่งเป็นเจ้าของคนไข้แปลกใจในชะตากรรมของบุญมานัก จึงสอบถามประวัติอย่างละเอียดอีกครั้งไว้
และได้ความว่า บุญมาชายอายุยี่สิบสามปี อาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างก่อสร้าง ชอบดื่มเหล้าเป็นประจำ ชอบแกล้มเหล้าด้วยปลาน้ำจืด โดยเฉพาะชอบกินเต่า กินตะพาบ บุญมาเคยได้ยินมาว่า ใครกินตะพาบน้ำได้สิบถึงยี่สิบตัวแล้ว ตลอดชีวิตจะไม่เป็นโรคไขข้ออักเสบอีกทั้งยังช่วยบำรุงไต บุญมาจึงเพียรหาตะพาบน้ำมาผัดเผ็ด แกล้มเหล้าขาว
บุญมากินตะพาบน้ำมาแล้วเกือบยี่สิบปี นับไม่ได้แล้วว่ากินเข้าไปได้กี่ตัว วันหนึ่งบุญมาซื้อตะพาบน้ำตัวใหญ่จากตลาดมา
ตะพาบน้ำตัวนี้น้ำหนักตั้งสิบกว่ากิโลกรัมเขาดีใจมาก ตัวใหญ่ขนาดนี้ฆ่ากินทีเดียวไม่หมด จะต้องค่อยๆกินที่บ้านไม่มีตู้เย็นให้แช่เก็บได้ จึงต้องกินผ่อนทีละน้อย ตะพาบน้ำเป็นสัตว์อายุยืน อดทนไม่ตายง่ายๆ ไม่ว่าจะถูกกักขังอยู่ในสภาพใดก็อดทนมีชีวิตอยู่ได้เป็นปีบุญมาเห็นแก่กิน ไม่นึกถึงว่าตะพาบจะต้องทนทุกข์ทรมานนานเพียงไร ต้องเจ็บปวดแสนสาหัสครั้งแล้วครั้งอีก เขาตัดเฉือนเนื้อตะพาบส่วนต่างๆ ตามความพอใจมาปรุงอาหารทีละชิ้นๆ บาดแผลรอบตัวตะพาบเขาทาด้วยปูนแดงที่กินกับหมากเพื่อไม่ให้เนื้อตัวตะพาบเน่า
ตะพาบตัวนั้นต้องทนทุกข์ทรมานอยู่นานกว่าครึ่งเดือน จากนั้นบุญมาจึงประหารเอามากินเป็นมื้อสุดท้าย
บุญมาพอใจกับวิธีที่จะได้กินเนื้อตะพาบสดๆ ทุกวันอย่างนี้เรื่อยมา
ผลสรุปประวัติผู้ป่วยที่โรงพยาบาล บันทึกไว้ในตอนท้ายมีอยู่ประโยคหนึ่งว่า..
เป็นประวัติที่แสดงให้เห็นกรรมตามสนองอย่างไม่น่าเชื่อที่ไม่มีข้อสรุปชัดเจนในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบัน
ปล. คุณควรตระหนักถึงการกระทำที่คุณได้ทำอยู่ในทุกวันนี้ ถึงผลดีและผลร้ายที่คุณได้กระทำลงไป มันจะส่งผลกลับมาหาคุณเอง ที่เรียกกันว่า กรรมตามสนอง นั้นเอง
แหล่งที่มา : หนังสือธรรมมะ
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!