“มาชูปิกชู” ที่หายสาบสูญก่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮิต มันถูก “ไฮแรม บิงแฮม” ค้นพบได้อย่างไร
ใครจะไปรู้ว่าบนเทือกเขาแอนดีส (Andes) ที่มียอดเขาสูงชันเสียดฟ้า ขรุขระ เข้าถึงยาก เต็มไปด้วยภยันตราย อากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี และมองเห็นเมฆหมอกลอยต่ำไล่เลี่ยศีรษะราวกับจะไขว่คว้าได้นั้น มีเมืองโบราณแห่งอาณาจักรอินคา (ระหว่าง ค.ศ. ๑๒๐๐-๑๕๕๐) แห่งอเมริกาใต้ที่หายสาบสูญไปนานนับศตวรรษ นักโบราณคดีเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่ามาชูปิกชู (Machu Picchu) ตั้งอยู่ระหว่างยอดเขา ๒ ลูกบนเทือกเขาแอนดีสในประเทศเปรู
มาชูปิกชูเป็นแหล่งโบราณคดีชื่อดังแห่งหนึ่งของเปรูและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ผู้ทำให้มาชูปิกชูเป็นที่รู้จักขจรไกลไปทั่วโลกเป็นนักสำรวจ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักปีนเขาชาวอเมริกันนามว่าไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) ผู้ซึ่งวงการโบราณคดีสากลยอมรับนับถือในความวิริยะอุตสาหะและความเป็นนักวิชาการในฐานะผู้บุกเบิกในการศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งนี้ เรามารู้จักตัวตนและคุณูปการของเขากันเลย
บิงแฮมแต่งงานกับอัลเฟรดา มิตเชลล์ (Alfreda Mitchell) ซึ่งเป็นทายาทหรือหลานสาวของผู้ก่อตั้งบริษัททิฟฟานีที่ค้าขายเครื่องประดับและอัญมณีชื่อดังของอเมริกา มีลูกชาย ๗ คน ไม่มีลูกสาว ต่อมาหย่าร้างกันไป บิงแฮมแต่งงานใหม่ตอนอายุ ๖๒ กับซูแซนน์ ฮิลล์ (Suzanne Hill) และอยู่ด้วยกันจนกระทั่งบิงแฮมเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๑๙๕๖ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
บิงแฮมชอบการสำรวจผจญภัย ชอบปีนไต่เขา ทั้งยังมีพื้นฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ระดับดอกเตอร์ (เขาเคยสอนวิชาประวัติศาสตร์ละตินอเมริกาด้วย) เขาจึงเดินทางไปยังสถานที่ทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะการเดินทางไปอเมริกาใต้
ในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๐๖ บิงแฮมแล่นเรือใบไปยังอเมริกาใต้ตามเส้นทางของนักสำรวจคนหนึ่งที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๑๙ เมื่อกลับจากการสำรวจเขาได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสารด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๐๘ บิงแฮมเข้าร่วมประชุมทางวิชาการที่ซันติอาโก ประเทศชิลี การประชุมครั้งนั้นจุดประกายที่แน่วแน่ให้แก่บิงแฮมโดยเขาตัดสินใจสำรวจศึกษาเส้นทางการค้าของพวกสเปนในยุคล่าอาณานิคม บิงแฮมเริ่มเดินทางสำรวจจากบัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) ไปจนถึงลิมา (เปรู)
ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. ๑๙๑๑ บิงแฮมย้อนกลับไปเยือนอเมริกาใต้อีกครั้งในนามผู้อำนวยการโครงการเดินทางสำรวจแห่งเปรู ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยเยลซึ่งมีฐานะดี บิงแฮมและทีมงานได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมของชาวอินคาหลายแห่งบนเทือกเขาแอนดีส ซึ่งการสำรวจดำเนินไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นพื้นที่สูงชัน มีหุบเหวน่ากลัว และยังมีสัตว์มีพิษจำนวนมาก โดยเฉพาะงูพิษ การค้นพบแหล่งโบราณคดีในเปรูทำให้บิงแฮมเป็นที่รู้จักในวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดี และกลายเป็นบุคคลสำคัญจนนำเขาไปสู่อาชีพทางการเมืองในภายหลัง หนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่บิงแฮมค้นพบก็คือมาชูปิกชู ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเปรู
การค้นพบเมืองมาชูปิกชูอาจเป็นเรื่องความบังเอิญมากกว่าความตั้งใจ กล่าวคือบิงแฮมพยายามค้นหาเมืองวิลกาบัมบา (Vilcabamba) ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นสุดท้ายของอาณาจักรอินคาหลังจากที่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนโจมตีเมืองคูซโก (Cuzco) ซึ่งเป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ. ๑๕๓๓ จักรพรรดิอินคาชื่อมันโก อินคา (Manco Inka) หลบหนีออกจากเมืองคูซโกเข้าป่าไปซ่อนตัวอยู่ที่เมืองวิลกาบัมบาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากคูซโกนัก (แต่ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าประมาณ ๔-๕ วัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่ารก หุบเขา และภูเขาสูงชัน) มันโก อินคา ซ่องสุมไพร่พลกองทหารที่เมืองวิลกาบัมบาแห่งนี้เพื่อต่อสู้กับทหารม้าของพวกสเปนที่นำทัพโดยฟรันซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) บิงแฮมศึกษาเอกสารพบว่าเมืองวิลกาบัมบายังไม่มีใครค้นพบมาก่อนและเข้าใจว่าหายสาบสูญไป
หนังสือและวรรณกรรมทางโบราณคดีต่างๆ เชิดชูวีรกรรมของบิงแฮม โดยเฉพาะความอดทนบากบั่นในการเดินทางสำรวจเมืองโบราณบนเทือกเขาแอนดีส หนังสือบางเล่มกล่าวว่าบิงแฮมต้องเดินลุยป่าทึบเต็มไปด้วยสัตว์มีพิษหลายชนิด ลุยโคลนข้ามแม่น้ำ (เช่น แม่น้ำวิลกาบัมบาและแม่น้ำอุรุบัมบา) ปีนไต่เขาสูงชันที่แฉะและลื่น ในบางจุดเขาต้องหมอบคลานด้วยมือและเข่ากระดึบไปข้างหน้าทีละ ๖ นิ้ว และต้องหยุดพักเป็นระยะ (รวมทั้งในการเดินทางสำรวจในวันที่อากาศหนาวเหน็บและฝนตกเปียกแฉะ บิงแฮมต้องจ่ายค่าจ้างผู้นำทาง ๓ หรือ ๔ เท่าด้วย) จนในที่สุดเขาก็มาถึงสันเขาที่สูงประมาณ ๓๐๐ เมตร และเขาได้พบสิ่งก่อสร้างปรักหักพังก่อด้วยหินสีขาวมีตะไคร่เขียวเกาะ บิงแฮมเดินวนสำรวจซากป้อม กำแพง บ้านเรือน และพระราชวังที่ก่อสร้างด้วยหินแกรนิตสีขาวอยู่นานนับชั่วโมง บิงแฮมบรรยายความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสพื้นที่และบรรยากาศบนยอดเขามาชูปิกชูและพบเห็นซากเมืองโบราณว่า
"ในท่ามกลางเสน่ห์อันหลากหลายและอำนาจที่สะกดพวกเรา ข้าพเจ้ารู้เลยว่าไม่มีที่ใดในโลกเทียบเทียมกับสถานที่แห่งนี้ได้ ไม่เพียงแต่มียอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมเหนือเมฆหมอกในระดับสูงไม่ต่ำกว่า ๒ ไมล์ มีแนวหินแกรนิตหลากสีสูงชันนับพันฟุตจากเกาะแก่งเบื้องล่างที่มีน้ำไหลเสียงดังคำรามและส่งแสงประกายแวววาว แต่บนนี้ยังมีกล้วยไม้ เฟิร์น พืชพรรณ ซึ่งล้วนแต่สวยงามอย่างเพลิดเพลิน และยังมีป่าไม้ที่ดูราวกับมีคาถาอาคมลึกลับอีกด้วย"
อย่างไรก็ตามในครั้งนั้นบิงแฮมไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการบันทึกและวาดภาพสภาพซากสิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน และสภาพภูมิประเทศรอบๆ แต่ ๒-๓ สัปดาห์ต่อมา เขาได้จ้างทีมสำรวจขึ้นไปถากถางต้นไม้และหญ้าออกจากโบราณสถาน และให้ทำแผนที่เมืองนี้ไว้ ในปีถัดมา (๑๙๑๒) บิงแฮมกลับไปมาชูปิกชูอีกครั้ง คราวนี้เขาตั้งใจขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้อย่างเป็นระบบ แต่งานหนักก่อนการขุดค้นก็คือการอพยพชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามสิ่งก่อสร้างโบราณนั้นออกไปเสียก่อน หนังสือบางเล่มกล่าวว่านอกจากความยากลำบากในการอพยพผู้คนออกไปแล้ว บิงแฮมยังเผชิญกับงูพิษจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในที่สุดบิงแฮมก็ดำเนินการขุดค้นซากเมืองโบราณจนกระทั่งเขาพบหลักฐานต่างๆ มากมาย เช่น งานสถาปัตยกรรมที่ประณีตสวยงาม สิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือวิหาร สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ที่อยู่อาศัยของกษัตริย์ ห้องอาบน้ำ ที่พำนักของขุนนางและข้าราชบริพาร ฯลฯ บิงแฮมสรุปว่าเมืองนี้มีทุกอย่างเท่าที่กษัตริย์หรือจักรพรรดิต้องการ และเมืองนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของชาวอินคาตามตำนานพื้นบ้านของชาวอินคา
ผลงานการค้นพบและขุดค้นเมืองมาชูปิกชูของบิงแฮมได้รับการเผยแพร่ให้โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อวารสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๑๓ ตีพิมพ์ภาพและรายงานการสำรวจ การขุดค้น และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งเล่ม ต่อมาเมืองโบราณมาชูปิกชูกลายเป็นสนามทำงานวิจัยของนักโบราณคดีทั้งชาวต่างชาติและชาวเปรูมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากการวิจัยภายหลังบ่งชี้ว่ามาชูปิกชูเป็นคนละเมืองกับวิลกาบัมบา แหล่งที่ตั้งของเมืองวิลกาบัมบาคือตัมปูตอกโก (Tampu Tocco) ส่วนเมืองมาชูปิกชูอาจเป็นเพียงอสังหาริมทรัพย์ของจักรพรรดิอินคาองค์หนึ่ง
ในปัจจุบัน มาชูปิกชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันดับหนึ่งของเปรู แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมาชมจำนวนมากทั้งที่การเดินทางเข้าถึงเมืองโบราณแห่งนี้ค่อนข้างลำบาก ต้องปีนป่ายหน้าผา ไต่เขาสูงชัน ต่อมาเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว รัฐบาลเปรูมีโครงการสร้างรถรางนำนักท่องเที่ยวขึ้นมาชมเมืองและทัศนียภาพบนยอดเขา โดยที่บิงแฮมไม่มีโอกาสรับรู้ความเปลี่ยนแปลงนี้ ถ้าบิงแฮมรู้ว่ารัฐบาลเปรูจะสร้างรถรางขึ้นมาบนยอดเขานี้ เขาคงต่อต้านสุดกำลังเหมือนที่จักรพรรดิอินคาเคยต่อสู้พวกสเปนอย่างอดทนกล้าหาญมาแล้วก็ได้