กำเนิดผีไทย (3)


กำเนิดผีไทย (3)

เรื่องผีๆ สางๆ สไตล์ "เทียนวรรณ" นั้นจะอ่านเอาสนุกก็ได้ อ่านเอาเรื่องก็ดี!

ที่ว่าอ่านเอาเรื่องก็ดีก็เพราะ "เทียนวรรณ" (ชื่อเดิม "เทียน" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "วรรณ" นามปากกา "ต.ว.ส.วัณณาโภ" แต่มักนิยมเรียกขานกันว่า "เทียนวรรณ" จนติดปาก) ต้องการเสียดสีเยาะเย้ยระบบขุนนางข้าราชการแบบผู่ซ่งหลิง ว่าราษฎรต้องพบกับการเรียกร้องเงินทองเพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการติดต่อข้าราชการ...เข้าทำนองไปหาคนนี้ก็โดนรีด หันมาหาคนนั้นก็โดนไถ ไม่มีวันจะหลบหนีภูตผีปีศาจได้สำเร็จ

จะเรียกว่า "แสบไม่เสร็จ" ก็ยังได้!

ที่ว่าแสบไม่เสร็จน่ะ ไม่ได้แปลว่าขุนนางขี้ฉ้อจะแสบหรือว่าเกิดความละอายใจ จนเลิกประพฤติผิดคิดมิชอบ ไม่เห็นประชาชนที่ไปติดต่อขอความช่วยเหลือเป็นทาสในเรือนเบี้ย ตะคอกข่มขู่เอาตามอำเภอใจ หรือว่าเลิกแบบคันไถ ถือเตารีดเพื่อคอยเล่นงานราษฎรตาดำๆ นะครับ ประเดี๋ยวจะเข้าใจผิด

ทุกวันนี้ก็ยังมีเรื่องราวคล้ายๆ หนีเสือปะจระเข้ หรือข้าราชการรังแกประชาชน ทำตัวเป็นภูตผีปีศาจคอยจ้องกินสินบาดคาดสินบน สูบเลือดสูบเนื้อคนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว ให้เดือดร้อนแสนสาหัสขึ้นไปอีก

ถึงจะมีข้าราชการดีๆ อีกมากมาย แต่พวกกระสือหิวอาจยังมีปนเปแอบแฝงอยู่ไม่ใช่น้อยๆ เช่นกัน

...ไม่งั้นคงไม่มีข่าวเรื่องข้าราชการทุจริตคิดมิชอบ ทั้งคดโกงเงินหลวง ไม่ว่าตามน้ำหรือทวนน้ำ สารพัดรูปแบบ รวมทั้งการข่มขู่รีดไถชาวบ้าน ไหนจะรับเงินรับทองโจรผู้ร้ายเพื่อให้ปล่อยตัว หลบหนีการลงทัณฑ์ไปดื้อๆ ด้วยการทำเป็นซื่อบื้อ เอาหูไปบาร์เอาตาไปโรงนวดเฉยเลย แล้วอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้มีเจตนาเล้ย เป็นความสัตย์ แค่บกพร่องเผอเรอไปนิดเดียว-นิ้ดเดียวจริงๆ

แสบสันต์วันดวลซะไม่มี งานนี้น่ะ!

สาเหตุสำคัญที่เกิดการเล่าเรื่องผีไทยชนิดแพร่หลายในรูปแบบของนิยาย เมื่อการพิมพ์เผยแพร่เข้ามาในบ้านเราเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ก็เพราะภูตปีศาจในเมืองไทยมีจำนวนมากมายอย่างที่เล่าไปแล้ว ขนาด "ผีเสื้อ" ก็ยังแบ่งเป็นผีได้ถึง 2 ตนแน่ะ

"ผี" ก็คือ "ผี" ตรงตัวอยู่แล้ว แต่คำว่า "เสื้อ" ก็แปลว่า "ผี" อีกเหมือนกันถ้ายังคิดไม่ออกก็ลองนึกถึงว่า "เสื้อเมืองทรงเมือง" แล้วจะถึงบางอ้อ หรือ อ๋อ...ไปเอง

ถ้าไปเล่าให้พวกฝรั่งอั้งม้อฟังว่าเมืองไทยมี "เชิ้ตโกสต์" มีหวังพวกนั้นคงจะทำหน้าตาประเภท "จะหัวเราะก็มิได้ จะร่ำไห้ก็มิสะดวก" เป็นแน่แท้ เผลอๆ ก็อาจจะหัวเราะเฮอะฮะ...สติแตกไปเลย สวัสดี!

พวกผู้เฒ่าผู้แก่ หรือปู่ยาตายายก็มักนิยมเล่าเรื่องผีให้ลูกหลานฟัง!

ส่วนมากก็มักจะเล่าสืบต่อกันมา ต่อเติมเกร็ดฝอยให้สนุกสนาน ตื่นเต้นหรือโลดโผนโจนทะยานยิ่งขึ้น บ้างก็อ้างว่าตนเคยโดยภูตผีปีศาจหลอกหลอนมาสาหัสสากรรจ์นักหนา เรื่องราวเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ เป็นยังงั้นยังงี้ ฟังแล้วก็ล้วนแต่หวาดกลัวชนิดขนพองสยองเกล้าทุกเรื่องไป

ยิ่งคนฟังเป็นพวกเด็กๆ ที่ย่อมกลัวผีอยู่แล้ว ครั้นได้ยินเรื่องราวประเภทผีมาตากลวงโบ๋ ยืดตัวสูงลิบเท่าต้นตาล หัวใหญ่โตขนาดพ้อมใส่ข้าว แถมแหกอกคว้าก โชว์ตับไตไส้พุงห้อยร่องแร่ง พร้อมกับเอื้อมมือยืดยาวเข้ามาหาช้าๆ พลางอ้าปากหัวเราะเสียงแหบโหย นัยน์ตาถลนออกมานอกเบ้า แดงก่ำปานแสงไฟ

บรรดาหมาเจ้ากรรมก็พากันโก่งคอหอนโหยหวนอยู่นั่นแล้ว ไม่รู้ว่าหอนไปหาโมกขศักดิ์อันใด?

แต่ถ้าไม่มีเสียงหมาหอนมาเขย่าขวัญเพิ่มเติม ขอให้สันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าไม่ใช่เรื่องผี!

พวกเด็กๆ ที่ล้อมฟังก็ย่อมจะอ้าปากหวอ กระเถิบหนีร่องกระดาน หรือไม่ก็เข้าไปเบียดเสียดกันด้วยความหวาดกลัว พอฟังเรื่องผีจบ ซึ่งมักเป็นตอนกลางค่ำกลางคืน ก็ถึงเวลาเข้านอน ส่วนมากมักจะชักผ้าห่มคลุมโปงเพื่อมิให้ผีมองเห็น หรือไม่ก็จะได้ไม่ต้องเห็นผีเดี๋ยวจะจับไข้หัวโกร๋น หรือไม่ก็ขวัญหนีดีฝ่อตายเสียเปล่าๆ

คืนต่อมาก็จะขอร้องให้ปู่ยาตายายเล่าเรื่องผีๆ สางๆ ให้ฟังอีกแล้ว เพราะสำหรับเด็กๆ นั้นจะหาเรื่องอะไรมาสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจเท่ากับเรื่องภูตผีปีศาจเป็นไม่มี!



ขอบคุณเรื่องเล่าจากข่าวสด


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์