เมื่อจักรพรรดิคังซีทำศึกกับรัสเซีย


เมื่อจักรพรรดิคังซีทำศึกกับรัสเซีย

นับแต่ปลายราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา ทหารรัสเซียมักยกกำลังเข้ามาในแถบลุ่มน้ำเฮยหลงเจียงทางด้านชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนหลายครั้ง

ซึ่งทุกครั้งทหารเหล่านี้ก็จะปล้นฆ่าผู้คนและข่มขืนผู้หญิงอย่างเหี้ยมโหดทารุณโดยไม่มีผู้ใดขัดขวางได้ ยังผลให้ผู้คนแถบนั้นเดือดร้อนและทนทุกข์กับการคุกคามของเหล่าโจรต่างชาติเสมอ

ครั้นมาถึงยุคที่ราชวงศ์ชิงได้ปกครองจีนการก่อกวนของทหารรัสเซียก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยครั้งหนึ่งกองทหารรัสเซียได้ยกกำลังรุกเข้ามาถึงบริเวณปากแม่น้ำเอิลและเข้ายึดเมืองยัคซา (Yaksa) ซึ่งชาวรัสเซียเรียกว่าเมืองอัลบาซิน (Albazin) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของแถบนั้นเป็นฐานที่มั่นจากนั้นก็ส่งกำลังออกขูดรีดบรรณาการจากชนพื้นเมืองในแถบนั้นซึ่งหากเผ่าใดปฏิเสธพวกทหารรัสเซียก็จะเข้าโจมตีฆ่าฟันอย่างทารุณ


จักรพรรดิคังซีจักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์ชิงทรงตัดสินพระทัยจะยุติปัญหาคาราคาซังนี้โดยวางแผนที่จะส่งกองทัพไปขับไล่ทหารรัสเซียที่คุกคามชายแดนของจีนอยู่ซึ่งในการนี้พระองค์ได้ส่งข้าหลวงสองนายคือเผิงซุนและหลางทานออกเดินทางไปสืบลาดเลาของข้าศึกเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการทำสงครามโดยหลังจากรวบรวมข้อมูลและเตรียมการอยู่หลายเดือนในปี ค.ศ. 1685 จักรพรรดิคังซีก็ทรงมีพระบัญชาให้ส่งกองทหารจำนวนสี่พันนายโดยให้เผิงซุนเป็นแม่ทัพและหลางทานเป็นรองแม่ทัพออกเดินทางไปสมทบกับกองทหารจำนวนหนึ่งพันห้าร้อยนายที่ควบคุมโดยนายพลซาบุสซึ่งตั้งมั่นอยู่แถบลุ่มน้ำเฮยหลงเจียงเข้าโจมตีเมืองยัคซา

เมื่อจักรพรรดิคังซีทำศึกกับรัสเซีย

(จักรพรรดิคังซี)

หลังจากกองทัพชิงเดินทางมาถึงยังบริเวณปากแม่น้ำเอิลก็ได้เข้าปิดล้อมเมืองยัคซาทันทีเพื่อไม่ให้ฝ่ายรัสเซียตั้งตัวได้โดยในเวลานั้นที่เมืองยัคซามีทหารรัสเซียประจำการอยู่ราวแปดร้อยนายและเมื่อถูกปิดล้อมพวกรัสเซียก็ได้แต่ตั้งมั่นอยู่ในเมืองเพื่อรอกำลังเสริมที่จะมาช่วยซึ่งหลังจากนั้นอีกยี่สิบวันกองหนุนของฝ่ายรัสเซียก็ยกกำลังล่องแพมาตามลำน้ำทว่าถูกกองทหารชิงที่ดักรออยู่เข้าโจมตีจนแตกพ่ายกลับไปจากนั้นกองทัพชิงก็เปิดฉากโจมตีป้อมปราการของฝ่ายรัสเซีย

เมื่อจักรพรรดิคังซีทำศึกกับรัสเซีย

(ทหารชิงเข้าตีเมือง)

กองทัพชิงเริ่มการโจมตีด้วยการระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่เมืองยักษะอย่างต่อเนื่องตลอดคืนทำให้ฝ่ายรัสเซียตกอยู่ในความหวาดหวั่นและเสียขวัญจนเมื่อถึงเวลาเช้ามืดทหารชิงจำนวนหนึ่งก็อาศัยช่วงที่ข้าศึกกำลังอ่อนล้าลอบเข้าประชิดกำแพงเมืองซึ่งสร้างขึ้นจากไม้ซุงจากนั้นก็เอาฟืนและหญ้าแห้งที่ทุกคนนำติดตัวมาวางสุมไว้ติดกับกำแพงเมืองและก่อนที่ฝ่ายรัสเซียจะรู้ว่าทัพชิงกำลังจะทำอะไรปืนใหญ่ของต้าชิงก็ระดมยิงไปยังฟ่อนหญ้าและกองฟืนเหล่านั้นจนติดไฟลุกไหม้ตลอดแนวกำแพงจากนั้นเพลิงก็ได้ลุกลามเข้าไปในเมืองจนฝ่ายรัสเซียเกิดโกลาหลไปทั่วขณะเดียวกันเผิงซุนก็สั่งให้ทหารบุกเข้าตีเมืองอย่างดุเดือดสังหารข้าศึกเป็นจำนวนมากและไม่นานเมืองยัคซาก็ตกเป็นของกองทัพชิง

หลังจากตีเมืองได้แล้วฝ่ายต้าชิงได้ปล่อยเชลยชาวรัสเซียที่ถูกจับได้ทั้งหมดกลับไปและรื้อทำลายป้อมปราการของเมืองลงเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้เป็นที่มั่นต่อไปได้อีก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจักรพรรดิคังซีจะทรงใช้นโยบายผ่อนปรนกับฝ่ายรัสเซียเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งต้องยืดเยื้อทว่าฝ่ายรัสเซียกลับไม่เลิกล้มแผนการที่จะคุกคามชายแดนของจีนโดยได้ส่งกองทหารเข้ามาโจมตีชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอีกครั้งโดยสังหารทหารและพลเรือนของต้าชิงไปเป็นอันมากทั้งยังส่งกองทหารแปดร้อยนาย

โดยการนำของ อเล็กไซ โทลบูซิน (Aleksei Tolbuzin) มาสร้างเมืองยัคซาขึ้นใหม่ยังบริเวณซากของเมืองเดิม ทำให้จักรพรรดิคังซีทรงพิโรธกับเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอันมากจึงทรงมีพระบัญชาให้ส่งกองทัพเข้าทำสงครามกับรัสเซียอีกครั้ง

เมื่อจักรพรรดิคังซีทำศึกกับรัสเซีย

(คอสแซค)

ปี ค.ศ. 1686 กองทัพชิงเข้าโจมตีเมืองยัคซาอย่างดุเดือดทว่าฝ่ายรัสเซียปักหลักต่อต้านอย่างเข้มแข็งทหารชิงจึงขุดสนามเพลาะรอบเมืองและก่อป้อมตั้งปืนใหญ่ระดมยิงเข้าไปในเมืองอย่างต่อเนื่องพร้อมกันนั้นก็ส่งกองเรือเข้าปิดล้อมเส้นทางน้ำเพื่อโอบล้อมเมืองอีกชั้นหนึ่ง

การปิดล้อมและระดมยิงด้วยปืนใหญ่ของฝ่ายต้าชิงทำให้ทหารรัสเซียในเมืองบาดเจ็บล้มตายลงทุกวันขณะที่กองหนุนของรัสเซียที่ยกมาช่วยก็ไม่อาจตีฝ่าแนวรบของกองทัพชิงเข้าไปได้

การศึกยืดเยื้อจนถึงปีรุ่งขึ้น โดยโทลบูซิน แม่ทัพรัสเซียได้เสียชีวิตจากลูกกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายชิง จากนั้นกองทหารรัสเซียที่เหลืออยู่ในเมืองยักษะก็ยอมจำนนและเมื่อถึงปีค.ศ. 1689 พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็ส่งทูตมาเจรจาสงบศึกกับทางราชวงศ์ชิงถึงกรุงเป่ยจิงโดยฝ่ายรัสเซียยินยอมรับข้อเสนอของจีนในการเจรจาเรื่องปัญหาพรมแดนของทั้งสองอาณาจักร

เมื่อจักรพรรดิคังซีทำศึกกับรัสเซีย

จักรพรรดิคังซียอมตกลงสงบศึกกับรัสเซียและส่งขุนนางจากราชสำนักไปยังเมืองเนอชินส์ (Nerchinsk) ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนของสองฝ่ายเพื่อร่วมกับตัวแทนของฝ่ายรัสเซียทำสนธิสัญญากันอย่างเป็นทางการ โดยสนธิสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายกระทำร่วมกันนี้ถูกเรียกว่าสนธิสัญญาเนอชินส์ (Nerchinsk Treaty) (หรือ สนธิสัญญานีบุชในภาษาแมนจู) และนับแต่นั้นมาพรมแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนก็กลับคืนสู่ความสงบสันติอีกครั้งหนึ่ง

เครดิตแหล่งข้อมูล :komkid.com

เมื่อจักรพรรดิคังซีทำศึกกับรัสเซีย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์